10 ประโยชน์จากกล้วยน้ำว้า เป็นผลไม้มีฤทธิ์เป็นยาที่ควรกินให้ได้ทุกวัน

          กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ไทยที่ออกผลทุกฤดูกาล ราคาไม่แพงมาก และบางครอบครัวก็ปลูกไว้กินเอง  ซึ่งจัดว่าเป็นความโชคดีด้านอาหารเพื่อสุขภาพเลยก็ว่าได้นะ เพราะกล้วยน้ำว้าสรรพคุณดีต่อสุขภาพมากพอตัวเลยล่ะ ลองมาดูประโยชน์ของกล้วยน้ำว้ากันเลย

ประโยชน์และสรรพคุณของกล้วยน้ำว้า

1. กล้วยน้ำว้า คุณค่าทางอาหารเพียบ

-กล้วยน้ำว้า 1 ผลเล็ก น้ำหนักส่วนที่กินได้ 40 กรัม ให้คุณค่าทางสารอาหาร ดังนี้

– พลังงาน 59 กิโลแคลอรี

-น้ำ 25 กรัม

-น้ำตาล 9 กรัม

-ใยอาหาร 0.9 กรัม

-เบต้าแคโรทีน 22 ไมโครกรัม

– วิตามินซี 4 มิลลิกรัม

-โปแตสเซียม 128 มิลลิกรัม

          นอกจากนี้ในผลกล้วยทุกชนิดยังมีโปรตีน ไขมัน เกลือแร่ต่าง ๆ โดยเฉพาะแคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามิน กรดอะมิโน เช่น อาร์จินิน ฮิสติดีน และทริปโตเฟน เป็นต้น

2. ช่วยในการเจริญเติบโตของทารก   กรดอะมิโนอาร์จินิน และฮิสติดีน ในกล้วยน้ำว้า เป็นกรดอะมิโนจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารก และกล้วยน้ำว้ายังเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างเยอะ คุณแม่ส่วนใหญ่เลยมักจะบดกล้วยให้ลูกกินตอนยังเล็ก ๆ อย่างที่เราก็เคยกินกล้วยบดกันมาแล้วนั่นเอง

3. สารต้านอนุมูลอิสระสูง  โดยเฉพาะสารฟลาโวนอยด์ ที่มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ ลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบ และลดอาการปวดข้อเข่า เป็นต้น ซึ่งสารฟลาโวนอยด์ในกลุ่มผลไม้ที่มีเนื้อสีขาวอย่างกล้วย ก็มีอยู่หลายชนิดเลยด้วย

4. แก้ท้องผูก กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่มีกากใยเยอะพอสมควร และยังเป็นผลไม้น้ำตาลต่ำ สามารถกินครั้งละ 2 ผลได้โดยที่ไม่ต้องกลัวอ้วน และหากจะกินกล้วยน้ำว้าแก้ท้องผูก ให้กินกล้วยน้ำว้าสุกกลาง ๆ ไม่งอมเกิน ไม่ห่ามเกิน ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง หรือก่อนนอนทุกวัน

5. บรรเทาอาการริดสีดวง อย่างที่บอกว่ากล้วยน้ำว้าจะช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ซึ่งไม่เพียงแต่แก้ท้องผูกได้เท่านั้น แต่ไฟเบอร์ในกล้วยน้ำว้ายังเป็นไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำ (เพกติน) ซึ่งจะช่วยเพิ่มเมือกในลำไส้ ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ขับถ่ายง่าย ไม่บาดก้อนริดสีดวงทวาร ด้วยเหตุนี้จึงช่วยบรรเทาอาการริดสีดวงทวารไม่ให้เป็นหนักไปกว่าเดิม และอาจจะช่วยบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ได้ด้วย

6. แก้โรคกระเพาะ   ถ้าอยากได้สรรพคุณกล้วยน้ำว้าในเรื่องรักษาโรคกระเพาะ ต้องเลือกกล้วยน้ำว้าดิบ เพราะในกล้วยน้ำว้าดิบจะมีแทนนิน กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ฝาดสมาน ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และป้องกันผนังลำไส้ไม่ให้ถูกทำลายโดยเชื้อโรคหรือเอนไซม์ที่มีรสเผ็ดร้อน (จากพริก) จึงช่วยให้อาการแสบท้องของโรคกระเพาะ และแผลในกระเพาะลดน้อยลง

          ทั้งนี้การกินกล้วยน้ำว้าดิบเพื่อรักษาโรคกระเพาะ ให้ปอกเปลือกกล้วยแล้วฝานเนื้อกล้วยน้ำว้าเป็นแผ่นบาง ๆ จากนั้นนำกล้วยที่ฝานไว้ไปตากแดด 2 วัน หรือจนกว่ากล้วยจะแห้งกรอบ จากนั้นนำกล้วยที่แห้งแล้วมาบดเป็นผงละเอียด แล้วตักครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ มาละลายน้ำข้าว น้ำผึ้ง หรือน้ำอุ่น ๆ รับประทานก่อนอาหาร 30 นาที และก่อนนอน[ads]

7. แก้ท้องร่วง  สารแทนนินในกล้วยน้ำว้าดิบมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงได้ด้วยเช่นกัน โดยให้นำกล้วยน้ำว้าดิบมาหั่นแล้วตากแห้ง จากนั้นบดเป็นผงแป้ง ชงในน้ำร้อนครั้งละ 10 กรัม ต่อน้ำ 1 แก้ว ดื่มรักษาอาการท้องร่วงได้เลย

8. แก้นอนไม่หลับ คนที่นอนหลับยาก นอนไม่หลับบ่อย ๆ กินกล้วยน้ำว้าช่วยแก้นอนไม่หลับได้นะ เพราะกล้วยน้ำว้ามีทริปโตเฟน กรดอะมิโนที่ช่วยกระตุ้นการสร้างสารเซโรโทนิน สารแห่งความสุข สงบ ช่วยให้นอนหลับง่าย ดังนั้นกินกล้วยหลังอาหารเย็น 2 ผล ตามคำแนะนำของ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ก็จะรู้สึกผ่อนคลาย แก้นอนไม่หลับได้โดยไม่ต้องพึ่งยา

9. ช่วยลดน้ำหนัก  ในลิสต์ผลไม้ช่วยลดน้ำหนักก็มีกล้วยน้ำว้าเป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดยเฉพาะหากกินกล้วยน้ำว้าก่อนรับประทานอาหารสัก 1 ผล น้ำตาลในกล้วย คาร์บ และไฟเบอร์ที่กล้วยมีจะช่วยให้เรารู้สึกอิ่ม ทำให้กินข้าวได้น้อยลง และลดอาการหิวบ่อยได้ด้วยล่ะ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรกินกล้วยน้ำว้าเกิน 4 ผลต่อวันนะคะ เพราะกล้วยน้ำว้า 4 ผล จะให้ปริมาณน้ำตาลที่มากเกินความต้องการของร่างกาย อาจทำให้น้ำตาลสะสมจนเป็นไขมันอันก่อให้เกิดความอ้วนได้นั่นเอง

10. ป้องกันโรคโลหิตจาง  กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่มีธาตุเหล็กอยู่ในตัว ช่วยกระตุ้นการสร้างฮีโมโกลบิน ป้องกันภาวะโลหิตจาง ทั้งยังช่วยให้พลังงานกับผู้ที่อ่อนแรงได้ด้วย

           ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ลูกมีประโยชน์เท่านั้นนะคะ ต้นกล้วย ยังจัดเป็นพืชที่สารพัดประโยชน์มาก ๆ อย่างใบกล้วยหรือที่เรียกว่าใบตอง นำมาห่ออาหารได้แบบรักษ์โลก หรือจะนำไปประดิษฐ์เป็นงานดอกไม้ก็ได้ หยวกกล้วยก็นำมาทำเมนูอาหารได้ ทั้งแกงหยวกกล้วย ยำหยวกกล้วย หรือมีการใช้หยวกกล้วยเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ดี

เรียบเรียงโดย: tkvariety