ความรู้เรื่อง ‘ไข่’ กับวิธีกินให้ได้สุขภาพ ตกลงเรากินไข่ได้วันละกี่ฟอง?  

       ไข่ไก่ เป็นวัตถุดิบที่สามารถหาซื้อได้ง่าย สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนูและง่ายต่อการประกอบอาหาร แต่ทั้งนี้ก็มีหลายๆคนเกิดความสงสัย และเป็นกังวลกับการรับประทานไข่ไก่ เพราะหากกินมากๆจะไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมของคอเรสเตอรอลที่เป็นอันตรายได้ วันนี้เราเลย มีคำตอบในเรื่องนี้มาฝากกัน โดยทางเพจ 1412 Cardiology ได้ออกมาโพสต์ว่า 

ตกลงเรากินไข่ได้วันละกี่ฟองกันแน่?

ขออนุญาตเขียนให้ประชาชนทั่วไปอ่านแบบง่ายๆ

หมอก็ยังพูดไม่ตรงกันแล้วคนไข้จะทำยังไง ข้อมูลในโซเชี่ยลมีเดียก็ตีกันมั่วไปหมด สร้างความสับสนตลอดสามปีที่ผ่านมาสำหรับประชาชนรวมทั้งหมอเองด้วย 

เรามาหาคำตอบไปพร้อมกันครับ

    ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน อเมริกาตื่นตัวมากเรื่องการรักษา Heart Attack ผลชันสูตรคนไข้ที่เสียชีวิตด้วย Heart Attack พบว่าหลอดเลือดหัวใจอุดตันสนิท ส่วนที่อุดตันในหลอดเลือดมีส่วนประกอบของไขมันชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Cholesterol คำถามคือมันมาจากไหน? มันก็ต้องมาจากในเลือด ดังนั้น Cholesterol ในเลือดนั่นแหละคือต้นเหตุ เป็นการสันนิษฐานเท่านั้นโดยยังไม่มีการศึกษารองรับ

    การศึกษาแรกสุดที่แสดงให้เห็นหลักฐานว่าระดับ Cholesterol ในเลือดสัมพันธ์กับการเกิด Heart Attack คือ Framingham Heart Study Original Cohort ครับ แม้กระนั้นก็ไม่ได้บอกความเป็นสาเหตุของกันและกัน เพียงแต่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันเท่านั้น

     การป้องกันการเกิด Heart Attack ต้องลดระดับ Cholesterol ในเลือดลง

     แพทย์ส่วนใหญ่ในเวลานั้นเชื่อว่าการจะลดระดับ Cholesterol ในเลือดให้น้อยลง คุณก็ต้องกิน Cholesterol ให้น้อยลง เป็นความเชื่อที่ปราศจากหลักฐานการศึกษารองรับใดๆทั้งสิ้น ไม่มีเลย

     Dietary Cholesterol (ไข่) ที่สูงจะทำให้ Serum Cholesterol สูงตาม?

     ต้องรอถึงราวๆปี 1980 ถึงจะมีการศึกษาที่พอจะบอกได้ว่า การจำกัดการกิน Cholesterol ที่อยู่ในอาหารมีความสัมพันธ์กับการลดระดับ Cholesterol ในเลือด แต่เป็นความสัมพันธ์ที่น้อยมาก การศึกษาหลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่แสดงความสัมพันธ์ให้เห็นอย่างชัดเจนอีกเลย

     เมื่อเวลาผ่านไป เรารู้ว่า Cholesterol นั้นแท้จริงแล้วประกอบด้วยหลายๆส่ว และเจ้าตัวที่ก่อให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือดก็คือ LDL-Cholesterol หรือที่เรียกว่าไขมันตัวเลว

     กระนั้นเองสมาคมแพทย์โรคหัวใจในยุโรปและสหรัฐก็ยังคงแนะนำให้จำกัดการกิน cholesterol ในอาหารให้น้อยลงมาโดยตลอด คนปกติ < 300 mg ต่อวัน คนเป็นโรคหัวใจ < 200 mg ต่อวัน

     จุดเปลี่ยนมาถึงช่วงที่เรามีหลักฐานการศึกษาใหม่ที่มากขึ้นเรื่อยๆว่าการหลีกเลี่ยงและลดการบริโภคกรดไขมันบางชนิดในอาหาร ได้แก่กรดไขมันประเภททรานส์ และ กรดไขมันอิ่มตัว จะช่วยลดระดับไขมันเลวหรือ LDL ในเลือดลงได้ชัดเจนกว่าการจำกัดการกิน Cholesterol มากมาย

      นั่นเป็นที่มาของการเริ่ม "โยกย้ายความสำคัญ" ของการคุมหรือจำกัดการกิน Cholesterol ในอาหารมาเป็นการหลีกเลี่ยงกรดไขมันบางชนิดแทน ผมไม่อยากให้ใช้คำว่า ยกเลิก หรือ หลงผิด ถูกหลอก อะไรเพราะเราก็ยังคงขาดหลักฐานที่ชัดเจนเช่นกันว่าการกิน Cholesterol ในปริมาณที่สูงมากๆนั้นจะสามารถทำให้เกิดโรคหลอดเลือดได้มากขึ้นหรือไม่โดยเฉพาะในกลุ่มคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูง 

      อย่าลืมว่า absence of evidence is not evidence of absence

     จุดเริ่มของกระแสข่าวในปี 2015 คือ Dietary Guidelines Advisory Committee (DGAC) ของสหรัฐ เค้าฟัง AHA ครับ และ AHA ในปีนั้นออก statement มาว่า "we will not bring forward this recommendation because available evidence shows no appreciable relationship between consumption of dietary cholesterol and serum cholesterol" นี่เป็นคำพูดที่ไม่ได้อยู่ในหน้าข่าว ข่าวบางสำนักก็ตีมั่วไปหมด นั่นจึงเป็นที่มาทั้งหมดของการเริ่ม เอาการจำกัด Cholesterol ในอาหารออกไปจากคำแนะนำ แต่เค้าไม่ได้บอกนะครับว่า "กิน Cholesterol ในอาหารมากเท่าไหร่ก็ได้" เค้าบอกแค่ว่า ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน เราจึงเลือก โยกย้ายไปให้ความสำคัญกับข้อมูลที่แข็งแรงและชัดเจนกว่า

    มาที่ไข่ ทำไมต้องเกี่ยวกับไข่ เหตุผลเพราะแหล่งของ Cholesterol ในอาหารหลักก็คือ ไข่ กับ เนื้อแดง ไข่หนึ่งฟองมี Cholesterol ราวๆ 180 – 200 mg นั่นจึงเป็นที่มาของการจำกัดไม่ให้เกิน 1 ฟองต่อวัน มาจากคำแนะนำเดิมที่ว่าวันนึงไม่ควรกิน cholesterol เกิน 200 – 300 mg 

     คำแนะนำปัจจุบันได้ "โยกย้ายความสำคัญ" ของการคุม Cholesterol ในอาหารมาเป็นการหลีกเลี่ยงกรดไขมันบางชนิด 

      นั่นทำให้ "วิธีการปรุงไข่" อาจจะสำคัญกว่า "จำนวนไข่"

       สรุป กินไข่ได้ไม่เป็นไรครับ มีประโยชน์กับร่างกายด้วย แต่อย่าให้เยอะเกินไป วันละ 1-2 ฟองไม่เกินนี้ก็พอแล้ว แต่เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงกรดไขมันประเภททรานส์และกรดไขมันอิ่มตัวในอาหารเป็นสำคัญ ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ควบคุมโรคประจำตัวต่างๆให้ดี จะเป็นการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีที่สุดครับ

ขอขอบคุณที่มาจาก : 1412 Cardiology