3 อันดับถนนที่เสียงดังเกินมาตรฐานในเขตกรุงเทพฯ

           ในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลแน่นอนว่าประชากรนั้นหนาแน่นมาก ทำให้เกิดปัญหารถติดปัญหาการเดินและปัญหาอื่นๆตามมา เช่น รถเสียงดังเกินมาตรฐาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 5  ก.ค. นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ. ได้ตั้งสถานีติดตามตรวจสอบระดับเสียงในสิ่งแวดล้อมแบบอัตโนมัติต่อเนื่องตลอดทั้งปี บริเวณพื้นที่ริมถนนและพื้นที่ทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 12 สถานี

             นายประลองยังกล่าวอีกว่า จากการเปรียบเทียบระดับเสียงเฉลี่ยโดยรวมของ ปี 2561 กับข้อมูลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551 – 2560) พบว่าสถานการณ์ระดับเสียงมีค่าเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยปัญหาหลักในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงเป็นปัญหามลพิษทางเสียงริมเส้นทางจราจร สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2562 พื้นที่ริมถนนที่มีระดับเสียงเฉลี่ยเกินมาตรฐาน 3 ลำดับแรก ได้แก่

          1.สถานีการเคหะชุมชนดินแดง ริมถนนดินแดง แขวงดินแดง เขตดินแดง จำนวนวันที่ระดับเสียงเกินค่ามาตรฐานเท่ากับร้อยละ 100 (182 จาก 182 วัน) ค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชม. อยู่ในช่วง 71.6 – 81.6 เดซิเบลเอ

           2.สถานีไฟฟ้าย่อยธนบุรี ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี จำนวนวันที่ระดับเสียงเกินค่ามาตรฐานเท่ากับร้อยละ 82 (146 จาก 179 วัน) อยู่ในช่วง 69.3–72.1 เดซิเบลเอ

          3.สถานีสนามกีฬาการเคหะชุมชนห้วยขวาง ริมถนนประชาสงเคราะห์ เขตห้วยขวาง จำนวนวันที่ระดับเสียงเกินค่ามาตรฐานเท่ากับร้อยละ 23 (42 จาก 182 วัน) อยู่ในช่วง 63.1 – 83.4 เดซิเบลเอ โดยค่ามาตรฐานของระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชม. กำหนดไว้ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ

วัดเสียง

            เสียงที่เป็นปัญหามากที่สุดในเขตเมือง คือ เสียงจากรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถยนต์ประเภทอื่น ที่มีการดัดแปลงท่อไอเสีย ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยคพ.จะนำเสนอรายงานไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขต่อไป อย่างไรแล้วก็ขอความร่วมมือจากผู้ใช้รถใช้ถนนนะคะ 

ขอขอบคุณที่มาจาก: กองการคุณภาพอากาศและเสียง  เรียบเรียงโดย: tkvariety