มิติใหม่ของการเก็บเห็ด เจอเห็ดแปลกๆตรวจสอบได้ผ่านมือถือ

      ในยุค 4.0 มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาอย่างมากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งการนำมาใช้คัดแยกเห็ดพิษ สำหรับชาวบ้านที่ไปเก็บเห็ดมารุงอาหารต่อไปก็สามารถถือโทรศัพท์เข้าไปแสกนได้เลย โดยทางเว็บไซต์ ของคณะวิทยาศาสตร์มหาสารคาม ได้ออกมาโพสต์ว่า ในปี พ.ศ. 2562 (เดือนมกราคม-เดือนกันยายน) มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษที่มาจากป่าธรรมชาติมากถึง 1,176 ราย

      ตัวอย่างเห็ดพิษจากหลากหลายแห่งถูกส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ตรัง สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ยะลา ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญและสกลนคร เห็ดที่มีรายงานการเกิดเหตุ ได้แก่ เห็ดหมวกจีน เห็ดถ่านเลือด เห็ด  ระโงกพิษและเห็ดคันร่ม ซึ่งเห็ดพิษเหล่านี้มีลักษณะรูปร่างหน้าตาหรือเรียกว่าลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายกับเห็ดรับประทานได้ เช่น เห็ดหมวกจีนคล้ายกับเห็ดปลวก (เห็ดโคน) เห็ดถ่านเลือดคล้ายกับเห็ดถ่านใหญ่ เห็ดระงากพิษคล้ายกับเห็ดระโงกขาวกินได้ เห็ดคันร่มพิษคล้ายกับเห็ดปลวกไก่น้อย เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษคล้ายกับเห็ดนกยูงกินได้ ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดและเก็บมารับประทานได้

     ดังนั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 สองสถานบันจึงได้ร่วมมือกันโดยได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อพัฒนาโปรแกรม Application Mushroom Image Matching โดยได้รวบรวมภาพถ่ายของเห็ดทั้งเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้กลุ่มละ 1,000 ภาพ เก็บไว้ในฐานข้อมูลเพื่อใช้ประมวลผลด้วยโปรแกรมจดจำรูปภาพและแสดงผลชนิดของเห็ดด้วยชื่อและร้อยละของความถูกต้อง

     ก่อนการใช้งานโปรแกรมดังกล่าวต้องทำการดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งไว้บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนแบบ Android เท่านั้น จากนั้นทำการลงทะเบียนและใช้งานโปรแกรมด้วยการเปิดกล้องและสแกนดอกเห็ดที่ต้องการทราบชนิด โปรแกรมจะเริ่มประมวลผลแบบ real time และจะหยุดเมื่อความถูกต้องของชนิดเท่ากับร้อยละ 95 หรือเราสามารถกดปุ่มเพื่อหยุดได้และนอกจากนี้โปรแกรมนี้ยัง สามารถตรวจสอบชนิดของเห็ดจากภาพถ่ายที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือได้เช่นกัน

      โปรแกรม Application ในเวอร์ชั่นปัจจุบันมีฐานข้อมูลรูปภาพเห็ดเพื่อประมวลผลทั้งหมด 14 กลุ่ม ได้แก่ 1. เห็ดก่อและเห็ดน้ำหมากกินได้

2. เห็ดผึ้งกินได้ 3. เห็ดระงากพิษ 4. เห็ดระโงกกินได้ 5. เห็ดระโงกไส้เดือน 6. เห็ดหมวกจีน 7. เห็ดคันร่มพิษ 8. เห็ดโคนกินได้ 9. เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษ 10. เห็ดบานค่ำ 11. น้ำหมึก 12. เห็ดถ่านใหญ่ 13. เห็ดถ่านเลือด และ 14. เห็ดกระโดงหรือเห็ดนกยูง (การสำรวจและบันทึกภาพเห็ดกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติมจะดำเนินการในโครงการเฟสต่อไปปีพ.ศ. 2563-2565) นอกจากข้อมูลภาพถ่ายแล้วในฐานข้อมูลได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมของเห็ดแต่ละชนิด เช่น ชื่อพื้นเมือง พิษที่พบในเห็ด อาการที่แสดง เป็นต้น

      อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการเห็นว่าควรมีการจัดอบรมการใช้โปรแกรม Application นี้ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนเพื่อจะได้สื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านและผู้สนใจทั่วไปได้ใช้งานอย่างถูกต้อง ดังนั้นในปี พ.ศ. 2562 จึงได้อบรมการใช้โปรแกรมให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและเครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชน จำนวน 4 แห่ง ในปีที่ผ่านมานอกจากได้ร่วมมือกันพัฒนา Application แล้วยังได้จัดทำคู่มือการศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของเห็ด เห็ดพิษและการเฝ้าระวังในชุมชนเพื่อประโยชน์ต่อการจำแนกลักษณะของเห็ดเบื้องต้นจำนวน 1 เล่ม แต่ข้อจำกัดของการใช้โปรแกรม Application Mushroom Image Matching ก็มีอยู่บ้าง เช่น จำนวนชนิดของเห็ดที่อยู่ในฐานข้อมูลปัจจุบันมีเพียง 14 กลุ่ม แต่เห็ดในธรรมชาติมีจำนวนมากในบางครั้งการสแกนเห็ดการประมวลผลอาจช้าและไม่ตรงตามกลุ่มของเห็ดนั้นๆ และโปรแกรม Application นี้เป็นเพียงเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจเลือกรับประทานเห็ดหรือเฝ้าระวังเห็ดพิษที่ได้จากป่าธรรมชาติและสามารถสืบค้นข้อมูลในรายละเอียดของเห็ดแต่ละชนิดได้ในโปรแกรม

เปรียบเทียบเห็ดที มีลักษณะคล้ายกัน

เห็ดกรวดครีบเขียวพิษ และเห็ดนกยูงกินได้

เห็ดระงากขาวพิษ และเห็ดระโงกขาาวกินได้

เห็ดหมวกจีนพิษ และเห็ดปลวก

      นับว่ามีประโยชน์จริงๆ สำหรับใครที่ชอบทานเห็ด หรือเข้าป่าเก็บเห็ดประจำสามารถโหลดแอพพริเคชั่นนี้มาใช้กันได้นะคะ ต่อไปก็พกมือถือไปแสกนกันได้เพื่อความแน่ใจ จะได้ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองนะคะ  

ขอขอบคุณที่มาจาก : คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม