ป้าย ปากมูล แนะเลิกใช้เขื่อนปากมูลแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลซ้ำซาก

       นายกฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ป้าย ปากมูล นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ป้าย บูรพาไม่แพ้ เกี่ยวกับเรื่องปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับระบุว่า 

     ฟื้นทางน้ำเดิม เลิกใช้เขื่อนปากมูล แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานีซ้ำซาก !!!!

      วิกฤติน้ำท่วมอุบลราชธานีปีนี้ (2562) มีปริมาณน้ำมาก มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากและเป็นบริเวณกว้าง และช่วงเวลาน้ำท่วมขังยังใช้เวลานานมาก อีกด้วย เหตุการณ์น้ำท่วมอุบลราชธานี ไม่ใช่แค่ว่าเพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ ก่อนนั้น ปี 2560 และอีกหลายครั้ง หรือเรียกได้ว่าแทบจะทุกปี เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม จะเป็นช่วงฝันร้ายของคนอุบล ที่ต้องผวา กับสถานการณ์น้ำว่าจะเกิดน้ำท่วม หรือไม่ และน้ำจะท่วมขนาดไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดใจมากว่า จังหวัดอุบลราชธานี กลับไม่มีแผนป้องกัน หรือแผนการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมเลย เท่าที่ผมเห็นทำกันอยู่ ก็เป็นแค่เพียงการแก้ไขสถานการณ์ เท่านั้น

ผมมองสาเหตุ ที่ทำให้เกิดปัญหา น้ำท่วมตัวเมืองอุบลราชธานี ซ้ำซาก มีสาเหตุ ดังนี้

       1. ที่ตั้งของตัวเมืองอุบลราชธานี เป็นพื้นที่รับน้ำของลุ่มน้ำมูน (แม่น้ำชีเป็นสาขาของแม่น้ำมูน) กว่า 69,701 ตร.กม. แต่มีสภาพเป็น “คอขวด” เพราะพื้นทีริมน้ำ (พื้นที่บุ่ง – ทาม ) หรือ “แก้มลิง” กลายเป็นอาคาร บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จึงปิดกั้น ขวางทางน้ำ ในขณะที่ร่องลำน้ำเดิม (มูนหลง) คือ “กุดปลาขาว” ถูกรุกล้ำจนไม่มีสภาพเป็นร่องลำน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี ที่มีสภาพเป็นคอขวดอยู่แล้ว เกิดการอัดเอ่อของน้ำจนล้นตลิ่งเข้าหลากท่วมในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำมูน ดังที่เห็นอยู่เป็นประจำ

     2. น้ำต้นทุนมีมากเกินไป : น้ำต้นทุนในแม่น้ำมูน คือน้ำที่เกิดจากการเก็บกักของเขื่อนปากมูล ซึ่งปกติเขื่อนปากมูลจะเก็นน้ำอยู่ที่ระดับ 107 – 108 ม.รทก. การกักเก็บน้ำของเขื่อนปากมูล จึงทำให้แม่น้ำมูนมีน้ำต้นทุนในลำน้ำมาก ซึ่งเมื่อเกิดฝนตกหนัก หรือมีน้ำด้านบนจากแม่น้ำชี และแม่น้ำมูน ไหลลงมา ก็จะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

      3.ทางน้ำไหลเข้าเมืองมากกว่าทางน้ำไหลออก : แม่น้ำชีมีความยาว 765 กิโลเมตร ส่วนแม่น้ำมูน มีความยาว (จากต้นแม่น้ำมูนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำชี) ประมาณ 550 กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมกัน 43,563,135 ไร่ ซึ่งน้ำจากแม่น้ำทั้งสองสาย ไกลลงมารวมกีนก่อนถึงตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 25 กิโลเมตร และแทบทุกปี น้ำจากแม่น้ำทั้งสองสาย ก็มักจะมีพร้อมกัน และไหลลงมาพร้อมๆ กัน แต่ยังโชคดีที่ถูกชะลอไว้ด้วยสภาพความคดโค้งของลำน้ำ มูนช่วงหาดคูเดื่อ ทำให้ความแรงของน้ำลดลง แต่ทางเดินน้ำก็ถูกบีบแคบลงในบริเวณตัวเมือง และยังเหลือทางน้ำแค่ทางเดียวคือลำน้ำมูน ทำให้ปริมาน้ำไหลเข้ามากกว่าปริมาณน้ำไหลออก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองอุบลราชบ่อย ๆ ซ้ำซาก ดังที่เป็นอยู่ 

        สรุปโดยรวม เมื่อน้ำต้นทุนมีมาก ประกอบกับน้ำเหนือที่มาจากด้านบน มาจากแม่น้ำใหญ่สองสาย ที่ตั้งตัวเมืองเป็นคอขวดน้ำไหลออกทางเดียว สภาพเช่นนี้จึงเอื้อให้เกิดน้ำท่วมได้ง่าย และท่วมขังนาน ขณะที่การระบายน้ำออกก็ทำได้ยากมาก อุบลจึงเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานีซ้ำซาก

       1. ลดปริมาณน้ำไหลเข้า : การที่จะลดปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี คือการควบคุมน้ำในแม่น้ำมูน และแม่น้ำชี ซึ่งทำได้ยากมากเพราะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของเขื่อนอีกจำนวนมาก และด้วยจำนวนเขื่อนที่มากนี้ ยังทำให้เกิดความเสี่ยงซ้อนขึ้นมากอีก เพราะเนื่องจากว่าเขื่อนแต่ละแห่งมักจะเก็บกักน้ำไว้แทบจะเต็มเขื่อนอยู่แล้ว ดังเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมอุบลราชธานี เมื่อปี 2560 ก็เกิดจากน้ำล้นเขื่อนลำปาว และเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำมากเกินระดับเก็บกัก จึงต้องเร่งระบายน้ำออกเพื่อรักษาตัวเขื่อนไว้ (กลัวเขื่อนแตก) ส่วนน้ำท่วมอุบลราชธานีในปัจจุบัน (ปี 2562) ซึ่งมีปริมาณฝนตกเป็นวงกว้างทำให้เขื่อนในแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำมูน ได้แก่ เขื่อนราศีไศล เขื่อนหัวนา (ศรีสะเกษ) และแม่น้ำชี ได้แก่ เขื่อนวังยาง (มหาสารคาม) เขื่อนพนมไพร (ร้อยเอ็ด) และเขื่อนธาตุน้อย (เขื่องใน อุบลราชธานี) มีสภาพน้ำมากเกินระดับเก็บกัก จนต้องปล่อยน้ำไหลผ่านตรงลงสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี จนทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ (21-09-2562) 
ดังนั้นการที่จะลดปริมาณน้ำไหลเข้า ซึ่งเป็นน้ำเหนือด้านบนตัวเมืองอุบลราชธานี จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย

      2. ลดน้ำต้นทุน : การจะลดน้ำต้นทุนในลำน้ำมูน จะทำได้ก็ต้องเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งก็จะมีคำถามว่าทำได้หรือไม่ จะมีผลกระทบอะไรไหมหากต้องเปิดประตูระบายน้ำเขือ่นปากมูล เพราะเหมือนกับว่าเป็นการยกเลิก หรือการปลดระวางเขื่อนปากมูล

      เขื่อนปากมูล ถูกก่อสร้างขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เขื่อนปากมูลก็จะทำการเดินเครื่องปั่นไฟเพื่อให้เกิดความเสถียรของไฟฟ้าในระบบ (เขื่อนปากมูลไม่ใช่เขื่อนผลิตไฟฟ้าหลัก) ซึ่งเมื่อ 25 ปีก่อน ซึ่งเหตุผลนี้ฟังดูมีน้ำหนัก แต่ในปัจจุบันประเทศไทยได้รับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว มาจำนวนมาก และเรามีการพัฒนาระบบสายส่งเชื่อมโยงกันหมดแล้ว นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้สร้างสถานีไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งเป็นสถานีไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย ในปัจจุบันเหตุผลหลักของการเก็บกักน้ำเขื่อนปากมูล คือการเก็บน้ำไว้สำหรับผลิตน้ำประปา ของเมืองอุบลราชธานี (เรื่องน้ำประปาจะอธิบายในลำดับต่อไป)

        การเปิดประตูเขื่อนปากมูล หรือการปลดระวางเขื่อนปากมูล จะทำให้ระดับน้ำที่ M7 มีระดับอยู่ที่ 105 ม.รทก. ซึ่งอยู่ต่ำกว่าตลิ่งแม่น้ำมูน ถึง 7 เมตร ขณะที่ระดับน้ำในลำน้ำมูน ก็จะยังมีน้ำอยู่ประมาณ 6 เมตร หรือครึ่งหนึ่งของความลึกของลำน้ำมูน (ระดับท้องน้ำต่ำสุดอยู่ที่ 99 ม.รทก. ) ซึ่งเกิดจากการที่แก่งธรรมชาติหลายแก่งเป็นตะพักกักน้ำไว้ (ตามรูปที่ 1(แนวเส้นสีดำ)) แม่น้ำมูนจึงมีน้ำอยู่จากหนึ่ง (ต้องคำนวณอีกทีว่าน้ำที่เหลือมีกี่ลูกบาศก์) สำหรับเป็นน้ำในการนำไปผลิตน้ำประปาได้

       3. ฟื้นทางน้ำเดิม : เดิมบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำมูน มีสภาพลุ่มต่ำในฤดูฝน หรือฤดูน้ำหลากน้ำจะหลากไหลผ่าน แต่ความการพัฒนาความเติบโตของเมืองทำให้พื้นที่เหล่านั้นถูกปลูกสร้างเป็นอาคาร บ้านเรือน รวมทั้งทางน้ำเดิม หรือ “มูนหลง” ทั้ง “ร่องกุดปลาขาว” และ “กุดศรีมังคละ” บางช่วงได้ถูกรุกล้าปิดกั้น และยังมีวัชพืชจำพวกผักตบชวา อัดแน่นเต็มแอ่งน้ำ จนพื้นที่ดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นร่องน้ำ ทำให้น้ำที่หลากท่ามไม่สามารถไหลผ่านได้

       หากฟื้นทางน้ำเดิมให้ ก็จะทำให้เป็นการเปิดทางน้ำเพิ่มอีกเส้น ในช่วง “กุดศรีมังคละ” และ “กุดปลาขาว” ได้ ก็จะทำให้เป็นทางผ่านของน้ำให้ไหลออกได้อีกทาง ซึ่งจะทำให้การพร่องน้ำทำได้มากยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ทางน้ำที่เปิดใหม่ จะทำให้มีแหล่งน้ำดิบสำหรับน้ำไปผลิตเป็นน้ำปะปา ได้อีกทางด้วย

       ทั้งนี้ยังกล่าวอีกด้วยว่า 'เราใช้งบประมาณในแต่ละปีจำนวนมหาศาล ในการสร้างถนนให้รถ แล้วทำไมเราจะใช้งบประมาณในการฟื้นทางน้ำเดิมไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ ก็จะต้องถูกนำไปศึกษา รับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้เสียอย่างครอบคลุม เพื่อให้แนวทางที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานีซ้ำซาก เกิดจากความร่วมมือ ความเห็นพ้องของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และยั่งยืน'

ขอขอบคุณที่มาจาก : ป้าย บูรพาไม่แพ้