เฝ้าระวัง 10 สัตว์มีพิษที่มากับน้ำท่วม พร้อมวิธีป้องกัน

        เมื่อถึงหน้าฝนทีไร นอกจากต้องเตรียมรับมือกับอุทกภัย หรือน้ำท่วมแล้ว ก็ยังต้องระวังสัตว์มีพิษชนิดต่างๆพากันเดินพาเหรดอวดโฉมกันคึกคัก เพราะนอกจากเราจะอพยพหนีน้ำแล้ว สัตว์เหล่านี้ก็ต้องเอาตัวรอดหาที่ปลอดภัยอยู่เหมือนกัน ซึ่งที่แห่งนั้นก็คือ ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ บ้านเรือน ตามสิ่งของต่างๆ เพื่อหาที่ซ่อนและความอบอุ่น โดยเราได้นำสัตว์มีพิษยอดฮิตที่พบเจอบ่อยจากอุทกภัยและวิธีการป้องกันไม่ให้พวกมันมาทำอันตรายพวกเราได้ ไปดูกันบ้างว่ามีอะไรบ้าง 

1.ตะขาบ 

       วิธีป้องกันตะขาบเบื้องต้น ควรตรวจตามห้องน้ำที่มีน้ำขังชื้นแฉะ โดยเฉพาะสิ่งของที่ตั้งอยู่ในห้องน้ำ เช่น ใต้ถังน้ำ ใต้ถาดรองกระถางต้นไม้หรือแม้แต่ใต้ฝาท่อระบายน้ำซึ่งมันชอบหลับที่เปียกแฉะมาอยู่ตามที่ชื้นและเย็นมากกว่า การกําจัดตะขาบนั้น ภูมิปัญญาชาวบ้าน จะใช้วิธีการเลี้ยงไก่ไว้บริเวณบ้านเพราะว่าไก่สามารถจิกกินตะขาบมาเป็นอาหารได้

2.แมงป่อง

      แมงป่องชอบออกหากินในเวลากลางคืน เวลากลางวันมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ใต้โพรงก้อนหิน ใต้กองไม้ ท่อนไม้ กองกระดาน ใต้ใบไม้ ตามรอยแตกใต้พื้นบ้านที่มีความชื้น โดยแมงป่องจะทำลายผู้คนโดยบังเอิญหากถูกรบกวน ซึ่งผู้ที่ถูกต่อยจะมีอาการไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของแมงป่อง จำนวนน้ำพิษ บางรายอาจมีอาการเจ็บเพียงเล็กน้อย บางรายอาจมีอาการมากจนถึงขั้นเป็นอันตราย เพราะพิษของแมงป่องมีพิษต่อระบบประสาทและระบบโลหิต ซึ่งขอแนะนำว่าถ้าใครถูกแมงป่องต่อยเข้าไปให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากรายที่แพ้พิษแมงป่องอาจมีอาการปวดทันที กล้ามเนื้อกระตุก อาเจียน ชัก น้ำลายฟูมปาก กระหายน้ำมาก ตัวเขียว ส่งผลให้การหายใจล้มเหลว

3.งู

      เมื่องูหนีน้ำมักจะเข้ามาหลบอาศัยอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ของบ้านเรือน ซึ่งอาจจะมีทั้งงูที่มีพิษและไม่มีพิษ เมื่อน้ำลดควรหลีกเลี่ยงการเดินเข้าไปในที่รก หรือเลี่ยงการโยกย้าย สิ่งของในที่รกและมืดทึบ เช่น กองเสื้อผ้า หรือกองเศษไม้ใบหญ้า เป็นต้น เพราะงูจะเข้าไปหลบอาศัยอยู่ กรณีเผชิญหน้ากับงูโดยบังเอิญ ผู้เชี่ยวชาญในการจับงูแนะนําว่าควรอยู่เฉยๆ อย่าตกใจหรือขยับเขยื้อน ควรรอให้งูเลื้อยหนีไปเอง

4.พยาธิตัวจิ๋ว

      เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก จนบางครั้งคนเราก็ลืมนึกถึงอันตรายของพวกมัน อย่างพยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน ซึ่งเกิดขึ้นจากการขับถ่ายไม่ถูกสุขลักษณะ เดินเท้าเปล่าย่ำน้ำที่สกปรก รับประทานอาหารปรุงไม่สุกหรือไม่สะอาด วิธีการป้องกันพยาธิที่ดีที่สุด คือ รักษาความสะอาดของร่างกาย ขับถ่ายให้ถูกที่ ดูแลส้วมให้สะอาดอยู่เสมอ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ สวมรองเท้าขณะถ่ายอุจจาระหรือเดินบนพื้นดิน เพื่อป้องกันตัวอ่อนไชเข้าบริเวณง่ามเท้า

5.ปลิง

      สําหรับผู้ที่ถูกปลิงดูดเลือด ไม่ควรที่จะใช้มือหยิบดึงปลิงออกจากบาดแผลทันทีเนื่องจากขากรรไกรจะยิ่งทําให้บาดแผลฉีกขาดกว้างมากขึ้นและเลือดไหลไม่หยุด แต่ควรใช้ยาฉุนหรือไส้ของเส้นบุหรี่ชุบน้ำบีบน้ำยาฉุนลงไปบริเวณที่ปลิงเกาะ หรืออาจจะใช้น้ำมะนาว น้ำมะกรูด น้ำเกลือเข้มข้น อย่างใดอย่างหนึ่งราดตรงที่ปลิงเกาะ หรือใช้ธูปที่ติดไฟจี้ลงที่ตัวปลิง ก็ได้ขึ้นกับความเหมาะสมและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น

6. กิ้งกือ

     กิ้งกือไม่ใช่สัตว์อันตราย ไม่กัด แต่มีพิษหากสัมผัสถูกตัว สารพิษของกิ้งกือจะถูกปล่อยออกมาจากบริเวณข้างลำตัว มีฤทธิ์ฆ่าสัตว์เล็กๆ เช่น มด แมลง และหากคนสัมผัสจะทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นแดง หรือทำให้ตาระคายเคืองในกรณีถูกพิษกิ้งกือเข้าตา  หากถูกพิษของกิ้งกือให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ทายาแก้อักเสบ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการอักเสบของตาที่อาจเพิ่มมากขึ้น 

7. หนู

      หนูเป็นสัตว์นำโรค อีกหนึ่งชนิดที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส(Leptospirosis) เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งมากับช่วงเวลาที่มีน้ำขัง  ดังนั้นหากรู้วิธีการสังเกตอาการแล้วสิ่งสำคัญที่สุด คือ การป้องตัวเองให้ห่างไกลจากโรคฉี่หนู ซึ่งการป้องกันมีดังนี้ กำจัดหนูพร้อมๆ กัน หากจำเป็นต้องอยู่บริเวณน้ำขัง หรือพื้นที่สุ่มเสี่ยง ควรสวมรองเท้าบู๊ท ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้าปิดมิดชิด หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะ โค กระบือ หนู สุกร และแหล่งน้ำที่สงสัยว่าจะปนเปื้อนเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปกปิด หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำลุยโคลนเป็นเวลานานๆ รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว เมื่อแช่หรือย่ำลงไปในแหล่งน้ำสงสัยอาจปนเปื้อน กินอาหารสุกใหม่ อาหารที่เหลือใส่ภาชนะปิดมิดชิด ผักผลไม้ ควรล้างให้สะอาดก่อนนำมาทำอาหาร 

8.แมลงก้นกระดก

      แมลงด้วงก้นกระดกเกิดจากการสัมผัสสารพีเดอริน (Paederin) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน จากการปัดด้วงก้นกระดกที่มาเกาะตามร่างกาย หรือบี้ทำให้แมลงท้องแตกและสัมผัสกับสารพิษนั้น โดยจะทำให้เกิดผื่นระคายเคืองแดงคัน ส่วนอาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณสารพิษที่สัมผัส ซึ่งหากสัมผัสสารพิษจำนวนมากจะเป็นหนอง ผื่นวางเรียงตัวเป็นแนวยาว เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีอาการโรคติดเชื้อรุนแรงควรไปพบแพทย์ ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม พิษจากแมลงด้วงก้นกระดกไม่ทำให้มีอันตรายถึงชีวิต 

9.คางคก

      หากไม่อยากมีคางคกป้วนเปี้ยนในบ้าน ลองนำผงคลอรีนโรยรอบ ๆ บ้าน โดยเน้นบริเวณพื้นที่อับชื้นมากเป็นพิเศษ กลิ่นฉุนของคลอรีนจะทำให้คางคกไม่เข้าใกล้บ้านเราเลย ในกรณีโดนพิษคางคกที่ผิวหนัง ให้รีบล้างทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำและสบู่ให้หมดจด ส่วนหากกินคางคกเข้าไป ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยด่วน 

10.จระเข้

      การป้องกันตัวจากจระเข้ในยามน้ำท่วมนั้น ให้ระมัดระวังหากบริเวณที่อยู่อาศัยมีกอไม้หรือพงหญ้าจํานวนมาก เพราะจระเข้มักชอบใช้เป็นที่กําบังตัว กลางวันจระเข้ชอบออกมาตากแดดในบริเวณที่เงียบและแห้ง และออกหากินในเวลากลางคืน ฉะนั้นต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง หากมีความจําเป็นต้องลุยน้ำ ให้ใช้ไม้ตีน้ำ หรือทําให้เกิดเสียงดังก่อน เพื่อให้จระเข้ตกใจและหนีไปเอง แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ดีไม่ควรประมาท

      ทั้งนี้ในช่วงน้ำท่วม นอกจากจะระวังสัตว์มีพิษทั้งหลายแล้ว ยังต้องระวังเรื่องโรคภัย ที่มากับหน้าฝน ทั้งไข้หวัด อาหารเป็นพิษ  และเชื้อโรคต่างๆ ยังไงก็ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมระวัง และใช้ชีวิตใหปลอดภัยนะคะ