เผยเทคนิค ตรวจสอบเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของเมทานอล แบบชาวบ้านก็ทำได้

       จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมไปถึงในประเทศไทย ตอนนี้ประชาชนต่างต้องหาซื้อหน้ากากอนามัย เจลล้างมือแอลกอฮอล์ เพื่อมาปัองกันตนเอง แต่ตอนนี้กลับมีเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของเมทานอล มาวางขายมากมาย ซึ่งเป็นอันตราย อาจจะทำให้ตาบอดได้

       ล่าสุด ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Sorachat Tharamak ได้ออกมาเผยวิธีการตรวจสอบ เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของเมทานอล แบบฉบับที่ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายๆ โดยเขาได้ระบุว่า

       "เนื่องด้วยตอนนี้มีคนเอา เมทานอล (methanol) มาทำเจลล้างมือ ซึ่งมันเป็นพิษ และทำให้ตาบอด ด้วยความไม่รู้หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ ซึ่งการแยกความแตกต่างระหว่างเมทานอลกับเอทานอลก็ค่อนข้างยาก จริงๆกลิ่นมันต่างกัน แต่ถ้าไม่ใช่นักเคมีแล้วบอกเลยว่าแยกยาก (ปล.ผมก็ไม่มั่นใจว่าจะแยกได้ไหม 555)

       การแยกความแตกต่างระหว่างเมทานอลกับเอทานอล มีหลายวิธี เช่น NMR , GC-MS เป็นต้น อย่างที่อาจารย์หลายมหาวิทยาลัยออกมาสุ่มตรวจ และออกมาเตือน

       แต่วันนี้ผมนั่งนึกว่าถ้าเป็นชาวบ้านหรือคนทั่วไปที่ไม่ได้มีเครื่องมือทดสอบจะทำอย่างไรได้บ้าง ผมนึกออก 2 วิธี วันนี้เสนอวิธีนึงก่อน คือ iodoform test ในวิชาแลปเคมีอินทรีย์ ส่วนอีกวิธีถ้าสำเร็จจะนำมาเล่าต่อไป โดยสารที่ใช้ทดสอบคือ เบตาดีน และโซดาไฟ ที่หาซื้อได้ทั่วไป

       ลองมาดูผลกันนะครับ แต่ต้องขออภัยหนึ่งอย่างคือ ผมหา methanol ไม่ได้ เนื่องจากผมทำการทดลองที่บ้าน จ.ราชบุรี เลยหาสารมาเปรียบเทียบไม่ได้ แต่เคยสอนแลป ผลจะไม่เกิดตะกอนครับ ขออภัยด้วยครับ

       การทดลองนี้มีข้อจำกัดเหมือนกันคือ เรื่องปริมาณสารที่ใช้ ลำดับในการทดลอง ใส่มั่วๆ รวมกันบางครั้งไม่เกิดปฏิกริยานะครับ และถ้าของเหลวนั้นเป็นของผสมระหว่าง เมทานอลและเอทานอล ก็บอกไม่ได้นะครับบ และอันที่เป็นเจลล้างมือ ผลการทดลองเห็นไม่ค่อยชัดเจนเท่าเอทานอลเพียวๆ

       อันนี้เป็นแนวทางทดลองที่พยายามเขียนให้คนทั่วไปเข้าใจ และทำตามได้ง่ายที่สุด ส่วนรูปสุดท้ายเป็น mechanism เผื่อใครสงสัยว่ามันแยกระหว่าง methanol กับ ethanol ได้ยังไง

       ยินดีมากๆ ถ้ามีคนนำไปต่อยอด หรือเอาไปทำให้มันทดสอบง่ายขึ้น เพื่อให้คนทั่วไปทดสอบเบื้องต้นได้ด้วยตนเองสุดท้ายขอให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ สู้ๆครับ สรฉัตร ธารมรรค

       ปล. ผมแก้ไข Mechanism ให้มีความถูกต้องนะครับ ขอบคุณพี่ Valentine Bunchuay ที่ให้คำแนะนำครับผม พี่เป็นอาจารย์ที่มหิดลแล้ว ผมพึ่งรู้ ยินดีกับพี่ด้วยครับผม ^^"

       วิธีการทดลอง

       1. ใช้สารตัวอย่าง อย่างละ 10 หยด

       หมายเลข 1 = น้ำกลั่น

       หมายเลข 2 = เอทานอล หรือ เอทิล แอลกอฮอล์

       หมายเลข 3 = เจลล้างมือ ผมซื้อมาจากโรงพยาบาล (ผมเติมน้ำกลั่นลงไปเล็กน้อย)

       2. เติมเบตาดีนลงไป 20 หยด (ประมาณ 1-2 ซีซี) ยี่ห้อที่ผมใช้ตามรูปเลยครับ

       3. เติมเบส 5% w/v NaOH (โซดาไฟ) ลงไป 10 หยด ได้ดังรูป ถ้าสารละลายใส ไม่มีสี เติมเบตาดีน เพิ่มให้ได้สารละลายสีเหลืองอ่อนๆ หลอดที่ 2 , 3 จะร้อนนิดหน่อย ตอนแรกไม่มีตะกอนเกิดขึ้น ***เตรียม 5% w/v NaOH ได้โดย ใช้โซดาไฟ 5 กรัม ละลายในน้ำ 100 ซีซี

       4. ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที สังเกตตะกอนที่เกิดขึ้น ถ้ามีตะกอนเหลืองเกิดขึ้น แสดงว่าเป็น เอทานอล ไม่ใช่ เมทานอล

       สรุปผลการทดลอง

       หลอดที่ 1 น้ำกลั่น ไม่เกิดตะกอน

       หลอดที่ 2 เอทานอล เกิดตะกอนสีเหลือง

       หลอดที่ 3 เจลล้างมือ เกิดตะกอนเหลือง ขาว เล็กน้อย

       สรุปว่า สามารถใช้ทดสอบเอทานอลได้ โดยถ้าเป็นเอทานอลจะเกิดตะกอนสีเหลือง โดยตามทฤษฎีแล้วเมทานอล (methanol) จะไม่เกิดตะกอนเหลืองได้ผลเหมือนน้ำกลั่น และเจลล้างมือ ผลการทดลองเห็นตะกอนที่เกิดขึ้น แต่ผลไม่ชัดเจนเท่ากับของเหลวเอทานอล

       การทดลองนี้ต้องขออภัยที่ไม่ได้เอา methanol มาเทียบ เพราะทดลองที่บ้านราชบุรี เลยหา methanol ไม่ได้ และเบสอาจจะใช้ความเข้มข้นอื่นได้ แต่พอดีที่บ้านมีความเข้มข้นนี้เตรียมไว้เลยไม่ได้เตรียมใหม่

       ข้อจำกัดการทดลอง

       การทดลองนี้เรียกว่า iodoform test จริงๆ การทดลองมีการต้มเพื่อเร่งปฏิกิริยา ดังนั้นในที่นี้เลยให้รอ 20 นาทีแทน และถ้าผสมสาร ลำดับสารไม่ดี ปริมาณสารที่ใช้ไม่ดี ปฏิริยาอาจจะไม่เกิดตะกอน ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ และเจลล้างมือผลการทดลองเห็นตะกอนเหมือนกัน แต่ไม่ชัดเจนเท่ากับของเหลวเอทานอลเพียวๆ

       ตอนนี้อะไรๆก็ต้องระมัดระวังด้วยกันทั้งสิ้น เพราะเราอาจจะใช้อุปกรณ์การป้องกันตนเองด้วยไม่รู้ถึงโทษที่จะตามมา ต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนค่ะ

เรียบเรียงเนื้อหาโดย : tkvariety.com, ขอขอบคุณที่มาจาก : Sorachat Tharamak