อาจารย์เจษฎ์แนะอยากให้ข้าวออกรวง ให้เปลี่ยนพันธุ์ ไม่ใช่เอาผ้าไปห่อหลอดไฟ

          จากกรณีที่ชาวนาบ้านเอากระสอบปุ๋ยสแลนกันแดดขึ้นไปปิดหลอดไฟถนนทางหลวง สายนางรอง-ละหานทราย บริเวณบ้านจอมปราสาท ต.สะเดา อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เชื่อแสงสว่างทำให้ต้นข้าวโตช้า ด้านคนคลุมอ้างบอกเจ้าหน้าที่แล้ว ทางการไม่ว่าอะไร 

           ล่าสุดอาจาย์เจษฎ์ได้มาบอกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ข้าวไม่ออกรวง ให้แก้ที่เปลี่ยนพันธุ์ข้าว ไม่ใช่เอาผ้าไปห่อหลอดไฟถนน"มีคน request มาเยอะมาก ว่าให้ช่วยอธิบายเรื่องนี้ด้วย ที่ชาวนาจังหวัดบุรีรัมย์ เอากระสอบปุ๋ยและสแลนกันแดด ขึ้นไปปิดคลุมหลอดไฟฟ้าส่องสว่างที่ติดตั้งไว้ริมถนนทางหลวง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับรถที่สัญจรผ่านไปมาได้ เพราะเชื่อว่าแสงไฟทำให้ข้าวไม่เจริญเติบโต โดยนาข้าวที่อยู่ห่างจากไฟสามารถเก็บเกี่ยวได้ แต่นาที่อยู่ใกล้ไฟ ต้นข้าวยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ (แต่ชาวบ้านบางคนก็แย้งว่า ไม่น่าเกี่ยวกับหลอดไฟ เพราะปีที่แล้วไม่ได้คลุม ข้าวก็ยังเก็บเกี่ยวได้)

           ประเด็นของเรื่องนี้ มีทั้งส่วนที่ถูกและส่วนที่ผิดครับ .. แสงไฟถนน อาจจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและการออกรวงของต้นข้าวจริง แต่ปัจจัยใหญ่คือ การเลือกพันธุ์ข้าวมาเพาะปลูกให้เหมาะสมครับ โดยควรใช้แต่พันธุ์ข้าวชนิด "ไม่ไวต่อช่วงแสง" เท่านั้น "แสง" เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของพืชในการ "เจริญเติบโต" พืชส่วนใหญ่ที่ได้รับแสงน้อย ก็ย่อมเจริญเติบโตน้อยกว่าพืชที่ได้รับแสงมาก ดังนั้น การที่บอกว่า ต้นข้าวได้รับแสงจากหลอดไฟถนนและทำให้ไม่เจริญเติบโตนั้น ย่อมไม่ถูกต้อง !

           แต่แสง ก็มีผลสำคัญต่อเรื่อง "การออกดอกออกรวง" ของข้าวด้วยที่เรามักจะชอบเรียกว่า "ความไวต่อช่วงแสง (sensitivity to photoperiod)" โดยช่วงความยาวของกลางวัน มีอิทธิพลต่อการออกดอกของต้นข้าว ทำให้เราแบ่งพันธุ์ข้าวออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

           1. "ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง" จะออกดอกในเดือนที่มีความยาวของกลางวันสั้น (น้อยกว่า 12 ชั่วโมง) พันธุ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่ และจะต้องปลูกในฤดูนาปี โดยอาศัยน้ำฝน และมีความยาวของกลางวันสั้นเพียงพอที่จะกระตุ้นให้ข้าวกลุ่มนี้ออกดอกได้ โดยมักจะออกดอกในเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม  ข่าวกลุ่มที่ไวต่อช่วงแสงนี้ จะมีประโยชน์ต่อชาวนาในภาคอีสานที่ถึงฝนมาเร็วมาช้า แต่มักจะหมดฤดูฝนในต้นเดือนพฤศจิกายน จึงยังออกดอกให้เก็บเกี่ยวได้ แม้ผลิตผลจะลดต่ำลง

           2. "ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง" การออกดอกของข้าวกลุ่มนี้ ไม่ขึ้นอยู่กับความยาวของกลางวัน เมื่อต้นข้าวเจริญเติบโตครบตามกำหนด ก็จะออกดอกทันทีไม่ว่าเดือนนั้นจะมีกลางวันสั้นหรือยาว จึงใช้ปลูกได้ผลดีทั้งในฤดูนาปรังและนาปี โดยจะให้ผลิตผลสูงเมื่อปลูกในฤดูนาปรัง

           ดังนั้น สรุปตรงนี้ได้ว่า "พันธุ์ข้าวไวแสง" เมื่อครบระยะการเจริญเติบโตของลำต้นแล้ว จะไม่สร้างช่อดอกจนกว่าจะได้รับช่วงแสงแบบที่ชอบ ส่วน "พันธุ์ข้าวไม่ไวแสง" จะเริ่มสร้างช่อดอกทันที หลังจากที่ข้าวเจริญเติบโตทางลำต้นครบระยะแล้ว

           ดังนั้น ถ้าข้าวพันธุ์ที่ชาวนาที่จังหวัดบุรีรัมย์ใช้ตามข่าว เป็นพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสงแล้วละก็ ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ต้นข้าวซึ่งอยู่ติดไฟถนนส่องสว่างนั้น จะได้รับ "ช่วง" แสงยาวนานกว่าที่มันชอบ และทำให้ถึงแม้ลำต้นจะเจริญเติบโตเขียวขจี แต่ก็ไม่ยอมออกดอกออกรวงเสียที เมื่อเทียบกับข้าวที่ได้รับแต่แสงธรรมชาติ

           กระนั้นก็ตาม รายงานข่าวไม่ได้ระบุชัดว่า พันธุ์ข้าวที่ชาวนาบุรีรัมย์ใช้นั้นเป็นพันธุ์ไหน? แต่ถ้าชาวนาสามารถเปลี่ยนไปใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ก็ย่อมจะทำให้เพาะปลูกเก็บเกี่ยวได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแสงไฟจากถนน   ทางกรมวิชาการเกษตร โดยเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ควรจะเข้าไปให้ความรู้กับชาวนา ว่าพันธุ์ข้าวที่ปลูกอยู่นั้นเป็นประเภทใด และควรจะต้องดูแลอย่างไร เช่น

– ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง

– กข15 เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง

– กข6 ข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง

– เหนียวสันป่าตอง ข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง

– สันป่าตอง ข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง

– สกลนคร ข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง

– สุรินทร์ 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง

– ชัยนาท 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง

– สุพรรณบุรี 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง

– สุพรรณบุรี 2 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง

– ปทุมธานี 1 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง

– พิษณุโลก 2 ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง

– หันตรา 60 ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง

– ปราจีนบุรี 1 ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง (สวนข้าวพันธุ์พื้นเมืองนั้น มักจะเป็นข้าวกลุ่มที่ไม่ไวต่อช่วงแสง)

            การไปปิดคลุมไฟถนนด้วยกระสอบแบบนี้ อาจจะช่วยเหลือต้นข้าวโดยรอบรัศมีไม่กี่เมตรให้ออกรวงได้เหมือนต้นอื่นในนา แต่ในทางกลับกัน การกระทำเช่นนี้ย่อมสร้างความเดือดร้อนและเป็นอันตรายต่อผู้ที่สัญจรมาได้ จึงไม่คุ้มค่า และไม่อยากให้ทำครับ

ขอขอบคุณที่มาจาก: อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์