หมอวิเคราะห์ และตักเตือนผู้ปกครองกรณีหนูน้อยชอบปั้นเปรต

        จากกระแสในโซเชียลมีเดีย ที่คุณแม่ท่านหนึ่งซึ่งลูกชอบปั้นเปรตหัวลำโพงหรือที่รู้จักกันในชื่อ Siren Head (ซึ่งเป็นตัวละครที่ศิลปินชาวแคนาดา Trevor Henderson วาดขึ้นมาในปี 2018 และได้รับความนิยมมาก มีการนำมาทำคลิปและเกม เด็กๆ ค่อนข้างจะชอบดูกันมาก

        คุณแม่ให้ประวัติว่าลูกวัย 4 ขวบชอบปั้นเปรตไซเรนเฮดมาก ไม่ค่อยทำอย่างอื่น ไม่มั่นใจจะต้องทำอะไรหรือไม่ และมีคนสอบถามให้หมอช่วยวิเคราะห์เรื่องนี้หน่อย ว่าการเล่นลักษณะนี้ปกติหรือไม่ ความคิดเห็นของหมอในเรื่องนี้มีดังนี้

1.การจะสรุปและบอกว่าเด็กมีความปกติหรือผิดปกติหรือไม่ คงไม่สามารถบอกได้จากประวัติเบื้องต้น ต้องอาศัยการดูในบริบทอื่นๆของเด็กด้วย ได้แก่ ประวัติพัฒนาการต่างๆ ที่ผ่านมา ด้านภาษาการสื่อสาร สังคม อารมณ์ พฤติกรรม ความคิด การแสดงออกอื่นๆ การทำกิจวัตรประจำวัน ต้องมีการประเมินเฉพาะในแต่ละด้าน

2.จากประวัติทราบเพียงเด็กมีความชอบการปั้นอย่างมาก ก็คงต้องดูว่าถึงขนาดเป็นความหมกมุ่นยึดติด และมีผลต่อการใช้ชีวิตอื่นๆหรือไม่ เช่น ปั้นจนไม่ไปโรงเรียน ไม่ทานข้าว ไม่นอน ไม่ทำกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำ หรือสามารถใช้ชีวิตปกติได้ ไม่กระทบถึงการใช้ชีวิต (Impairment of functions) ข้อมูลที่ได้ในการพิจารณาก็จะแตกต่างกัน

3.คุณแม่บอกว่าเด็กดูยูทูบมากและปั้นตามยูทูบ ก็คงต้องซักประวัติการดูหน้าจอว่ามากน้อยขนาดไหน เพราะการให้เด็กเล็กอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานานเกินไปก็คงไม่ดี และถ้าเป็นไปได้ ควรมีผู้ใหญ่ดูกับเด็กด้วย เพื่อจะได้ช่วยกลั่นกรองเนื้อหาที่เหมาะสม แนะนำเด็กได้ ไม่ควรให้เด็กดูคนเดียวโดยกดไล่คลิปไปเรื่อยๆ คนเดียว (ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจเรื่องของ YouTube Algorihtm) พยายามชวนเขาออกจากหน้าจอไปทำอย่างอื่นๆ เช่น การที่มาปั้นดินน้ำมันก็ยังดีกว่า แต่ควรปั้นด้วยกัน ชวนเด็กพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับคนอื่นมากขึ้น

4.คุณแม่บอกว่าชวนไปเล่นอะไรก็ไม่สน ไม่ไปเล่นกับเพื่อน ก็คงต้องดูเป็นลักษณะไหน เช่น ถ้าเด็กไปโรงเรียนได้ตามปกติ ตอนอยู่โรงเรียนเล่นกับเพื่อนได้ดี มีสังคมตามปกติ แต่กลับบ้านมาก็จะชอบปั้นเพราะสนุก ก็ไม่น่าเป็นอะไร แต่ถ้าอยู่ที่โรงเรียนก็ไม่เล่นกับเพื่อน แยกตัว พูดแต่เรื่องเปรตต่างๆ ที่สนใจ มีความหมกมุ่นอย่างมาก ข้อมูลตรงนั้นก็จะนำมาใช้พิจารณาด้วย

5.การปั้นเปรตมากๆ ของเด็กเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ มีเหตุการณ์ความเครียดอะไรในชีวิต หรือสิ่งที่ทำให้เด็กมีความกลัว กังวลด้วยหรือไม่ เพราะการเล่นซ้ำๆ เดิมๆ บางครั้ง เป็นการแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึกในใจบางอย่างได้

6.ต้องขอประวัติจากคุณครูที่โรงเรียนเพิ่มเติม ประกอบการพิจารณาด้วย ว่าลักษณะเด็กที่โรงเรียนเป็นอย่างไร นำมาประกอบการพิจารณา

7.กรณีการนำเสนอข่าวในโซเชียล คงต้องระมัดระวังให้ดี เพราะบางครั้งก็ทำให้มีคอมเมนท์ที่ไม่เหมาะสมเข้ามรวิพากษ์วิจารณ์ สุดท้ายส่งผลกระทบกับคุณแม่และครอบครัว กลายเป็น Digital Footprint ได้

8.ความเห็นจากในโซเชียลมีเดียในเรื่องที่สงสัย อาจได้ข้อมูลที่หลากหลายมาก บางอย่างจริง บางอย่างไม่จริง ดังนั้นการจะให้ข้อมูลถูกต้องชัดเจน เด็กควรได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมในเด็ก หรือจิตแพทย์เด็ก ก็ได้ ซึ่งถ้าน้องไม่ได้ผิดปกติอะไร คุณแม่ก็จะได้คำแนะนำที่ดีและเหมาะสมในการเลี้ยงดูลูกชาย

          สรุป: สังคมไม่ควรไปบอกว่าเด็กเป็นอะไร หรือไม่เป็นอะไร แม้แต่ตัวของหมอเองที่เป็นจิตแพทย์เด็กก็ตาม เพราะเรายังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ได้ประเมินเด็กโดยตรง การสรุปบอกไปอาจทำให้เกิดผลกระทบได้ และควรระวังความเห็นที่จะเป็น Digital Footprint ของเด็กและครอบครัวในปัจจุบันและอนาคต 

          นี่คือการวิเคราะห์จากความคิดเห็นส่วนตัวของคุณหมอ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่หลายท่าน  ทั้งนี้คุณหมอยังฝากถึงผู้ปกครองควรมีความระมัดระวังเช่นกันในการใช้งานโซเชียลมีเดีย และกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปค่ะ

ขอขอบคุณที่มาจาก: เข็นเด็กขึ้นภูเขา