แบงก์ชาติเตือน รีบเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ด

              น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้ให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์และเร่งติดตามลูกค้าที่ยังไม่ได้เปลี่ยนบัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็มแบบแถบแม่เหล็กเป็นบัตรแบบชิปการ์ดให้เร็วที่สุด

             เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะหากหลังจากวันที่ 15 ม.ค.63 บัตรแถบแม่เหล็กจะไม่สามารถใช้งานได้ที่เครื่องเอทีเอ็มหรือเครื่องรูดบัตรที่ร้านค้าได้ แม้ตามหน้าบัตรจะยังไม่หมดอายุก็ตาม โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนบัตรได้ครบถ้วนภายในสิ้นปี 62 ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้เปลี่ยนบัตรเป็นชิปการ์ดไปแล้ว 47 ล้านใบ และยังคงมีบัตรแถบแม่เหล็กคงเหลือ 20 ล้านใบทั่วประเทศ

              ในจำนวนบัตรที่ยังไม่ได้เปลี่ยน 20 ล้านใบ ไม่มีการเคลื่อนไหว 6 ล้านใบ แบ่งเป็น 30% อยู่ในกรุงเทพฯ และอีก 70% อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนมากจะอาศัยที่ภาคอีสานเยอะ ทำให้ธนาคารแต่ละแห่งต้องเข้าดูแลลูกค้า เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ซึ่งมีฐานลูกค้าที่เป็นเกษตรกร และไม่สะดวกในการเดินทางไปที่สาขาเพื่อเปลี่ยนบัตร ทำให้สถาบันการเงินอาจมีแคมเปญ หรือบริการอื่นเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวก เพราะจะไม่สามารถกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม 67,000 ตู้ทั่วประเทศได้

              ขณะเดียวกัน ธปท.ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ยังใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็มแบบแถบแม่เหล็กอยู่ในปัจจุบันรีบติดต่อธนาคารที่ใช้บริการได้ทุกสาขาเพื่อเปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กเป็นบัตรชิปการ์ดให้แล้วเสร็จ โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน บัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็มใบเดิม และสมุดบัญชีเงินฝาก โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนบัตรถึงสิ้นปีนี้ แต่หากผู้ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กเป็นบัตรชิปการ์ด แต่มีความต้องการใช้เงินสดหรือโอนเงิน สามารถเบิกถอนได้ที่สาขาธนาคาร หรือใช้ฟังก์ชั่นกดเงินไม่ใช้บัตรที่ตู้เอทีเอ็ม หรือโอนเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งแทนการใช้บัตร

              ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 59 ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงิน ได้ร่วมกันผลักดันการปรับเปลี่ยนบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มจากรูปแบบบัตรแถบแม่เหล็กให้เป็นบัตรชิปการ์ดที่เป็นมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ป้องกันการปลอมแปลงบัตรและการโจรกรรมข้อมูล (สกิมมิ่ง) นำไปทำบัตรปลอม และใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น

ขอขอบคุณที่มาจาก: thaipbs