คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ ยกเลิกการใช้สารเคมี3ชนิด

           คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิก การใช้สารเคมี 3 ชนิดแล้ว  ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณายกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่กระทรวงอุตสาหกรรม

           วันนี้ 22 ต.ค.2562 นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย อ่านประกาศจากที่ประชุมพิจารณาเรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้พิจารณาปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562

           คณะกรรมการพิจารณาข้อมูล ประกอบกับผลดำเนินการของกระทรวงเกษตรฯ ได้พิจารณาข้อมูลวิธีการและสารทางเลือกจัดการวัชพืช สารทดแทน โดยเห็นว่าสามารถบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ หากยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ ส่วนผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอข้อมูลความเป็นอันตรายและการเฝ้าระวังสารตกค้างเกษตร นอกจากนี้ได้นำข้อเสนอจากส่วนที่เห็นด้วย และไม่เห็นในการยกเลิกใช้

           โดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ลงมติอย่างเปิดเผย โดยมีมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ทั้งพาราควอต ครอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากผู้เข้าร่วมประชุม 26 คน "พาราควอต" มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิกใช้ 1 ธ.ค.2562 จำนวน 20 คน มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิกใช้ 1 ธ.ค.2564 จำนวน 1 คน และจำกัดการใช้ 5 คน

           สำหรับ "คลอร์ไพริฟอส" มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิกใช้จำนวน 22 คน และจำกัดการใช้ 4 คน สุดท้ายคือ "ไกลโฟเซต" มีผู้ลงคะแนนให้ยกเลิก 19 คน และจำกัดการใช้ 7 คน

           หลังจากที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับ 3 สารเคมีเกษตรจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 โดยได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร ไปดำเนินการยกร่างประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป

               ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลา ความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น โดยให้รับรองมติในที่ประชุม