ข้อปฏิบัติในการทวงหนี้ ห้ามทวงเกินวันละ1 ครั้ง ฝ่าฝืนปรับสูงสุด1แสนบาท

          ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้หลายๆ ครอบครัว ปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงจนอาจทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อเลี้ยงปากท้อง วันนี้ทางกองปราบปราม ได้มาทบทวนความรู้เกี่ยวกับการทวงหนี้ ตามพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ที่ได้กำหนดหลักปฏิบัติของเจ้าหนี้ ต่อลูกหนี้

           ซึ่งตอนนี้เจ้าหนี้ห้ามทวงหนี้ เกินวันละ 1 ครั้ง หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับสูงสุด 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ "เรื่องจำนวนครั้งในการทวงถามหนี้" ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 มีผลบังคับใช้ 21 พฤษจิกายน 2562 หลักปฏิบัติของเจ้าหนี้ ต่อลูกหนี้

1.หนี้อะไรที่เข้าหลักเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

– สินเชื่อ (การจำนำรถ, จำนองที่ดิน, กู้ยืมเงิน, บัตรเครดิต)

– การพนัน ที่ชอบด้วยกฎหมาย

– การค้าขาย

– ทั้งชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2.ใครทวงถามหนี้ได้บ้าง

– เจ้าหนี้

– ผู้รับมอบอำนาจ

– บริษัท รับทวงหนี้ ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

3.ข้อปฏิบัติในการทวงหนี้

– ห้ามทวงหนี้ กับบุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้

– ติดต่อทวงถามหนี้ตามที่อยู่ลูกหนี้ระบุไว้ หรือตามภูมิลำเนา

– วันจันทร์ – วันศุกร์ ติดต่อเวลา 08.00 น. -20.00 น.

– วันหยุดราชการ ติดต่อเวลา 08.00 น. – 18.00 น.

– ผู้ทวงถามหนี้ ต้องแจ้งชื่อ แสดงเอกสารการรับมอบในการทวงถามหนี้ทุกครั้ง

– ใช้วาจาสุภาพ ไม่เป็นข่มขู่ ดูหมิ่น หรือทำร้ายร่างกาย ลูกหนี้

             เจ้าหนี้อ่านแล้วก็ต้องระวังกันด้วยนะคะ ทวงได้วันละครั้งเท่านั้น ทั้งนี้เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ออกมาเพื่อคุ้มครองลูกหนี้ที่ได้รับการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ถูกใช้ความรุนแรง ข่มเหงทำร้ายจิตใจ ไม่ได้มีไว้ให้ลูกหนี้เบี้ยวไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้

ขอขอบคุณที่มาจาก: กองปราบปราม