ทางเพจ กรมประชาสัมพันธ์ ได้ออกมาโพสต์ประชาวสัมพันธ์แจ้งถึงผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เมื่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะปล่อยให้กู้และปลอดดอกเบี้ย 1 ปี เพื่อฟื้นฟูผู้ประสบภัย โดยมีรายระเอียดดังนี้
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ระบุถึงมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ในพื้นที่ประสบอุทกภัย 21 จังหวัด วงเงินประมาณ 576 ล้านบาท (576.287 ล้านบาท) ให้สหกรณ์กู้ยืมได้สหกรณ์ละไม่เกิน 5 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย 1 ปี ช่วยฟื้นฟูอาชีพให้กับสมาชิก
– สมาชิกกู้ได้รายละไม่เกิน 20,000 บาท ปลอดดอกเบี้ยระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
– สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการต้องมีอาชีพทำการเกษตร
– พื้นที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหาย
– อยู่ในเขตที่ประกาศการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินระดับจังหวัดจากกรณีอุทกภัย
*** ให้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ขยายเวลาชำระหนี้ให้สหกรณ์ที่มีหนี้เงินกู้กับกองทุนพัฒนาสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติและได้รับผลกระทบจากภัยดังกล่าว ทำให้สหกรณ์ขาดรายได้ที่จะนำมาส่งชำระหนี้คืน กพส. โดยขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอย่างน้อย 1 ปี
** หลังสำรวจความเสียหาย พบว่ามีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในพื้นที่ 20 จังหวัด รวม 316 แห่ง สมาชิก 84,775 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1.07 ล้านไร่
ปัจจุบัน สหกรณ์ได้รับเงินกู้แล้ว 10 สหกรณ์ ในพื้นที่ 2 จังหวัด รวมจำนวน 37.06 ล้านบาท มีสมาชิก 1,875 ราย คลอบคลุมพื้นที่ 27,322 ไร่ ได้แก่
– จังหวัดพิษณุโลก 10 สหกรณ์ จำนวน 28.20 ล้านบาท
– จังหวัดยโสธร 2 สหกรณ์ จำนวน 8.86 ล้านบาท
*** เดือนตุลาคม 2562 สหกรณ์แจ้งความต้องการเงินกู้ 15 สหกรณ์ ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่
– อำนาจเจริญ 8 สหกรณ์ 20.70 ล้านบาท สมาชิกได้รับผลกระทบ 1,211 ราย คลอบคลุมพื้นที่ 38,399 ไร่
– เพชรบูรณ์ 3 สหกรณ์ 1.97 ล้านบาท สมาชิกได้รับผลกระทบ 99 ราย คลอบคลุมพื้นที่ 1,211 ไร่
– ขอนแก่น 3 สหกรณ์ 15 ล้านบาท สมาชิกได้รับผลกระทบ 785 ราย คลอบคลุมพื้นที่ 8,433 ไร่
– มุกดาหาร 1 สหกรณ์ 5 ล้านบาท สมาชิกได้รับผลกระทบ 300 ราย คลอบคลุมพื้นที่ 2,100 ไร่
(ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน 2562) และคาดว่าจะมีสหกรณ์แจ้งความประสงค์เพิ่มเติม
การช่วยเหลือตามหลักสหกรณ์ จะพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ผู้ประสบภัยของตัวเองก่อนในลำดับแรก ดังนี้
1.ใช้เงินจากทุนสาธารณประโยชน์ นำไปช่วยเหลือสมาชิกผู้ประสบภัย เช่น ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือเยียวยาในด้านอื่นๆ
2.ลด/งด การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืม รวมทั้งขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่สมาชิกตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ยังมีหลายหน่วยงาน อาทิ กรมการปกครอง มีแนวทางบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ด้านต่างๆ ดังนี้
1.มาตรการงานทะเบียนและบัตร
– ขยายเวลาการขอมีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายเวลาการขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตร สำหรับผู้ประสบภัยธรรมชาติ (อุทกภัย)
– สำนักทะเบียนกลาง (อธิบดีกรมการปกครอง/ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนกลาง) จัดทำประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง ประกาศเขตท้องที่ประสบภัยและขยายเวลาการขอรับสำเนาทะเบียนบ้าน และการออกบัตรประจำตัวคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย กรณีบัตรเดิมสูญหาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม
– การออกหน่วยบริการงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนเคลื่อนที่ ขอความร่วมมือจังหวัดจัดทำแผนดำเนินการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ

2. มาตรการเก็บดอกเบี้ยและขยายเวลาไถ่ถอน ช่วยเหลือผู้ใช้บริการโรงรับจำนำ โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยลงนามขอความร่วมมือโรงรับจำนำเอกชน และสถานธนานุบาลของเทศบาลให้ดำเนินการ ดังนี้
– การนับระยะเวลาที่ผู้จำนำขาดส่งดอกเบี้ยกว่า 4 เดือน มิให้นับรวมระยะเวลาที่ผู้จำนำขาดส่งดอกเบี้ย เพราะเหตุประสบอุทกภัย
– ผู้จำนำที่ได้มาจำนำในช่วงที่ประสบอุทกภัย ให้ขยายเวลาไถ่ถอนทรัพย์จำนำไปอีกระยะเวลา 1 เดือนนับจากวันครบกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย (4 เดือน 30 วัน)
3.มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนค่าเช่านา กรมการปกครองได้ขอความร่วมมือให้จังหวัดสำรวจพื้นที่ทำนา ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ หากพบว่าการทำนาในพื้นที่ใดเกิดความเสียหายให้คณะกรรมการการเช่านาเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก.ตำบล) ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาโดยทำความเข้าใจกับผู้เช่านา และกำหนดค่าเช่านาให้ลดลงตามส่วนแห่งความเสียหาย หรือ งดเก็บค่าเช่านา (มาตรา 42 แห่ง พรบ. การเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2525)
สำหรับเรื่องนี้ก็นับว่าเป็นข่าวดี ที่ผุ้ประสบภัยใน 6 จังหวัดจะได้กู้เงินเพื่อนำมาฟื้นฟูความเสียหายได้ ผู้ประสบภัยที่ไหนอยากจะกู้เงินก็ลองไปสอบถามรายละเอียดจจาก กรมส่งเสริมสหกรณ์ ใกล้บ้านได้นะคะ
ขอขอบคุณที่มาจาก : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์