Tesla ทำสำเร็จ สร้างแผงโซล่าเซลล์เปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดให้ชาวเคนยา 35,000 คน

       ตั้งแต่ปี 2014 สถานการณ์ในคีอังก้า ประเทศเคนยา ค่อนข้างเลวร้ายมาก เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้ผู้คนต้องดื่มน้ำจากบ่อน้ำเค็ม ซึ่งเสี่ยงต่อโรคไตวาย รวมไปถึงการสวมใส่เสื้อผ้าที่ซักจากน้ำเกลือ ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลตามผิวหนังใต้ร่มผ้าได้

       นักวิจัยทั่วโลก พยายามคิดค้นวิธีเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดเพื่อให้ผู้คนได้ใช้สอยและดื่มกิน ซึ่งสามารถทำได้แล้วก็จริง แต่มันต้องใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายมหาศาล จึงไม่เหมาะกับชุมชนหรือพื้นที่ขาดแคลนอย่างแน่นอน เฮย์ส เบนาร์ด (Hayes Baynard) ประธาน GivePower ได้มีแนวคิดที่จะนำเกลือออกจากน้ำทะเลและเปลี่ยนมันเป็นน้ำจืด จากนั้นก็ส่งต่อให้กับผู้คนในราคาถูกและยั่งยืนที่สุด

       จนในปี 2020 บริษัท Tesla ประสบความสำเร็จกับการนำแบตเตอรี่ Powerwall ผสานเข้ากับแผงโซลาร์เซลล์ สามารถเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำดื่มจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้สำเร็จเป็นเจ้าแรก ภายใต้โครงการ GivePower เป็นโครงการขององค์กรไม่แสวงผลกำไร "SolarCity" (ถูก Tesla ซื้อในปี 2016) ซึ่งมอบให้กับเมืองคีอังก้า (Kiunga) ที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่ง ประเทศเคนย่า

       ในการสร้างโรงกรองน้ำ GivePower 1 โรง มีค่าก่อสร้างประมาณ 500,000 เหรียญ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมด Tesla เป็นผู้ออก โดยในแต่ละวันโรงงานนี้จะผลิตน้ำสะอาดได้วันละ 20,000 แกลลอน เพียงพอสำหรับผู้คนในเมืองที่มีจำนวน 35,000 คน นอกจากนี้ มันยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับผู้คนในเมืองด้วย เช่น การจำหน่ายน้ำดื่ม หรือการซักผ้าด้วยน้ำจืด

       สำหรับ น้ำจืด 1 แกลลอน จากโครงการ GivePower มีราคาเพียง 1 เพนนีเท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในเคนยานับว่าถูกมาก เพราะต่อเดือนพวกเขามีรายได้อยู่ที่ 123.19 ดอลลาร์/เดือน นั่นเท่ากับว่าพวกเขาหาเงินได้เฉลี่ยวันละ 4.1 ดอลลาร์ และ 1 ดอลลาร์ มีค่าเท่ากับ 100 เพนนี ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถซื้อน้ำดื่ม 10-50 แกลลอนได้ด้วยราคาไม่ถึง 1 ดอลลาร์

คลิ๊กเพื่อชมคลิป

       เรียกได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืนเลยทีเดียวค่ะ นอกจากนี้ยังตอบโจทย์กับที่ผู้คิดค้นตั้งไว้ คือจะขายน้ำจืดให้ในราคาที่ยุติธรรมที่สุดนั่นเอง

เรียบเรียงเนื้อหาโดย : tkvariety.com, ขอขอบคุณที่มาจาก : GivePower