5 ประเภทธุรกิจ ที่มีความต้องการ แรงงานมากที่สุด

        น.ส.แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย (JobThai) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านตลาดแรงงานมีความผันผวนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์กรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ คนทำงานเองต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาทักษะอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำงานยุคนี้

        สำหรับทิศทางของตลาดแรงงานจากนี้ไปคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อดูสถิติช่วงต้นเดือน ก.ค.พบว่า สายอาชีพที่มีแนวโน้มเปิดรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ Freelance, อาจารย์/ครู, แพทย์/เภสัชกร/สาธารณสุข

        สำหรับการหางานและสมัครงานในจ๊อบไทยมีการเติบโตขึ้นมาก ซึ่งจ๊อบไทยได้ออกฟีเจอร์การค้นหางานที่ให้ทำงานที่บ้านได้ (Work from Home) และค้นหางานที่เปิดรับสัมภาษณ์ออนไลน์ เพื่อสร้างความสะดวก ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการและคนหางานด้วย

5 ประเภทธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่

1. อาหาร-เครื่องดื่ม 58,724 อัตรา แม้การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารไตรมาส 1/63 จะปรับตัวลดลง (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม) แต่ผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายในหมวดสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ทำให้ประเภทธุรกิจนี้ยังคงมีความต้องการแรงงานมาเป็นอันดับแรก ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 22.9%

2. บริการ 44,750 อัตรา ความต้องการแรงงานในธุรกิจประเภทนี้จะเป็นธุรกิจบริการที่นอกเหนือจากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาคท่องเที่ยว  เช่น ธุรกิจบริการทำความสะอาด ธุรกิจบริการด้านระบบ ธุรกิจบริการฝึกอบรม

3. ก่อสร้าง 41,353 อัตรา SCB EIC ได้ประเมินว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีแนวโน้มหดตัวตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางส่วนเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป แต่การก่อสร้างโครงการภาครัฐยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคม เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการสนามบิน โครงการท่าเรือ โครงการมอเตอร์เวย์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ[ads]

4. ยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ 39,883 อัตรา ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อยอดการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ในประเทศและการส่งออกให้ชะลอตัวลง และยังกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งภายในรถยนต์ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย (ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) แม้ธุรกิจนี้จะอยู่ในห้าอันดับแรกที่ต้องการแรงงานมากแต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าความต้องการแรงงานลดลงถึง 31.8%

5. ค้าปลีก 37,482 อัตรา ธุรกิจค้าปลีกโดยรวมมีผลกระทบค่อนข้างมาก ยกเว้นสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต เช่น อาหารและของใช้ส่วนตัว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ยังคงมีความต้องการแรงงาน

          ส่วนสำหรับนักศึกษาจบใหม่ในปีนี้ต้องเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือกับอนาคต โดย 5 สายงานที่องค์กรเปิดรับนักศึกษาจบใหม่ปริญญาตรีมากที่สุด อันดับหนึ่ง งานขาย คิดเป็น 23.3% อันดับสอง บริการ คิดเป็น 11.8% อันดับสาม ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 9.0% อันดับสี่ วิศวกร คิดเป็น 7.2% อันดับห้า ช่างเทคนิค คิดเป็น 7.1%

ขอขอบคุณที่มาจาก: tnnthailand