3กลุ่มสงสัยติดเชื้อรับการตรวจห้องปฏิบัติการ ใครมีสิทธิ์เคลมค่าใช้จ่ายจาก สปสช.

           พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการประชุมชี้แจงแนวทางการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เผยว่า การเฝ้าระวังโรคในปัจจุบันมีการเฝ้าระวังสามส่วนหลักๆ คือ

-ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

-กลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient Under Investigation : PUI)

-การสอบสวนโรคในกลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ

ผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งหมดจะมี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1.กลุ่ม PUI

2.กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

3.ผู้สงสัยว่าป่วยหรือติดเชื้อ

            กลุ่มที่ 1 กลุ่ม PUI  กลุ่ม PUI (Patient Under Investigation) คือกลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ซึ่งได้รับการตรวจวินิจฉัยตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือกรณีผู้ที่มีอาการแต่ไม่เข้าเกณฑ์ PUI แต่แพทย์ก็พิจารณาส่งตรวจก็สามารถส่งตรวจได้เช่นกัน ทั้งนี้ กรณีที่กลุ่ม PUI มีอาการโรคจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ในกรณีที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ แพทย์จะรักษาตามอาการและกักตัวที่บ้าน 14 วัน ส่วนกลุ่ม PUI ที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ก็ให้กลับบ้านได้แต่ต้องแยกกักสังเกตอาการ 14 วัน โดยเมื่อได้รับผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการแล้ว โรงพยาบาลจะแจ้งผลให้ทราบ ถ้าตรวจพบเชื้อก็จะรับกลับมารักษาต่อไป ในส่วนของนิยามผู้สงสัยติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์ PUI แบ่งออกเป็น 4 กรณี

กรณีที่ 1 การเฝ้าระวังที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ

           อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.3 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรืออาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือ หายใจลำบาก ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงมีประวัติเดินทางต่างประเทศทุกเที่ยวบิน ทุกช่องทางระหว่างประเทศ

กรณีที่ 2 การเฝ้าระวังในผู้สงสัยติดเชื้อ/ผู้ป่วย

2.1 ผู้สงสัยติดเชื้อที่มีอาการดังต่อไปนี้ อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือประวัติมีไข้ ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบากหรือ ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ

ร่วมกับการมีประวัติในช่วงเวลา 14 วันก่อนวันเริ่มป่วย อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

-มีประวัติเดินทางไปยัง หรือ มาจาก หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

-ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือติดต่อกับคนจานวนมาก

-ไปในสถานที่ชุมนุมชน หรือ สถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล หรือ ขนส่งสาธารณะ

-สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

2.2 ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

-หาสาเหตุไม่ได้หรือ รักษาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง

-มีอาการรุนแรง หรือ เสียชีวิตโดยหาสาเหตุไม่ได้

-ภาพถ่ายรังสีปอดเข้าได้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

กรณีที่ 3 การเฝ้าระวังในบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข

            อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีไข้ หรืออาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบากหรือ ปอดอักเสบ ร่วมกับปัจจัยเสี่ยง ผู้ป่วยทุกรายที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย/ผู้สงสัยว่าป่วยฯ[ads]

กรณีที่ 4 การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อน

            กลุ่มก้อน (cluster) ของผู้มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่ผลตรวจ rapid test หรือ PCR ต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ผลลบจากทุกรายที่มีการส่งตรวจ ร่วมกับปัจจัยเสี่ยง โดยในกรณีเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่ 3 รายขึ้นไปในแผนกเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์เดียวกัน (หากสถานพยาบาลขนาดเล็ก เช่น คลินิก ใช้เกณฑ์ 3 รายขึ้นไปในสถานพยาบาลนั้น ๆ) และ กรณีในสถานที่แห่งเดียวกัน (ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์) ตั้งแต่ 5 รายขึ้นไปในช่วงสัปดาห์เดียวกัน โดยมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา

            กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แบ่งเป็น กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงที่ต้องเก็บตัวอย่างส่งตรวจแม้ไม่มีอาการ ประกอบด้วย สมาชิกร่วมบ้านทุกคน, บุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุขที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย โดยไม่ได้สวม PPE ที่เหมาะสม และ ผู้คลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยอย่างชัดเจนโดยไม่สวมหน้ากากป้องกัน

            กลุ่มสัมผัสที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจเมื่อมีอาการ ประกอบด้วย ผู้ท่องเที่ยวร่วมกลุ่ม, ผู้โดยสารแถวเดียวกัน + 2 แถวหน้า + 2 แถวหลัง, พนักงานบนเครื่องบิน โซนผู้ป่วย, เจ้าหน้าที่ด่านที่ตรวจผู้ป่วย, ผู้ป่วยอื่นที่อยู่ห้องเดียวกัน และ ผู้ร่วมงาน ร่วมโรงเรียน ที่พบปะกับผู้ป่วย

            ทั้งนี้ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะต้องกักตัว 14 วันทุกราย ดังนั้นแม้ไม่ได้รับการตรวจก็ต้องกักตัว ถ้ามีอาการป่วยก็จะเข้าเกณฑ์ PUI และได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป

            กลุ่มที่ 3 ผู้สงสัยว่าป่วยหรือติดเชื้อ กลุ่มนี้หากไม่เข้าเกณฑ์ PUI ก็ยังสามารถส่งเคลมค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ หากถ้าตรวจพบเชื้อก็รับตัวมารักษาที่โรงพยาบาล แต่หากตรวจไม่พบก็ให้แยกกักสังเกตอาการ 14 วัน

             ในส่วนของการส่งตัวอย่างไปการตรวจในห้องปฏิบัติการนั้นแต่เดิมเมื่อโรงพยาบาลพบผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อต้องโทรไปแจ้งสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) เพื่อออกรหัสผู้สงสัยติดเชื้อ (SAT Code) แต่ปัจจุบันนี้สามารถลงทะเบียนผู้สงสัยติดเชื้อในระบบรายงานโควิด-19 ถ้าเข้าเกณฑ์ก็จะออก SATCode โดยอัตโนมัติ ขณะที่ใบส่งตรวจสามารถออกในนามหน่วยบริการได้เลย โดยต้องระบุชื่อและหมายเลขบัตรประชาชนผู้ป่วยด้วย เพื่อที่จะสามารถเคลมค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ได้ 

               และในกรณีผู้ไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ หากเป็นชาวต่างชาติที่ซื้อประกันสุขภาพก็จะเคลมจากบริษัทประกัน แต่ถ้าเป็นแรงงานต่างด้าว หรือกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หน่วยบริการต้องมาเคลมกับกรมควบคุมโรค

          ย้ำการส่งตัวอย่างไปการตรวจในห้องปฏิบัติการนั้นแต่เดิมเมื่อโรงพยาบาลพบผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อต้องโทรไปแจ้งสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) เพื่อออกรหัสผู้สงสัยติดเชื้อ (SAT Code) แต่ปัจจุบันนี้สามารถลงทะเบียนผู้สงสัยติดเชื้อในระบบรายงานโควิด-19 ถ้าเข้าเกณฑ์ก็จะออก SATCode โดยอัตโนมัติ 

เรียบเรียงโดย: tkvariety