ไทยตุน ยาต้านโควิด ไว้ตั้งแต่มกราคม พอสำหรับผู้ป่วย3,000ราย

          วันนี้ 21 มี.ค.63 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสในเฟซบุ๊กเผยข้อมูล ที่มาของการใช้ยา Favipiravir ในประเทศไทยว่า

          เราเป็นคณะแรกที่ใช้ยา favipiravir ตั้งแต่ 2015 เนื่องจากศึกษายาที่จะใช้รักษาโรคพิษสุนัขบ้าและศึกษายากลุ่มต่างๆที่ครอบจักรวาลรักษาไวรัส RNA และใช้ยาตัวนี้ในสัตว์ทดลองปรากฏว่าสามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในหนูได้ โดยที่หนูรอด 10% ทั้งๆที่ต้องตาย 100% และรายงานในวารสารโรคติดเชื้อของสหรัฐฯในปี 2016และจากการรวบรวมข้อมูลของยาครอบจักรวาลต่างๆเมื่อมีโควิด-19 ระบาด ได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขรีบตุนยาตัวนี้ตั้งแต่ 24 มกราคม 2563 แต่ในที่สุดยาได้เข้ามารักษาผู้ป่วย ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์และจำนวนยาใช้ได้พอสำหรับผู้ป่วยประมาณ 600 ราย และต่อมากระทรวงสาธารณสุขจึงได้พยายามซื้อยาจากที่ต่างๆโดยล่าสุดได้มาเพียงพอสำหรับผู้ป่วยอีก2857 ราย รวมกับที่เหลือจากล็อตแรกน่าจะอยู่ได้สำหรับผู้ป่วย 3000 กว่ารายและหวังว่าจะสามารถหาได้เพิ่มเติมอีกทั้งนี้ถ้าโชคดีผู้ป่วยไม่มากและเลือกใช้กับผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆในกรณีที่ได้มาเยอะมากๆ เหลือใช้ยังสามารถใช้กับไวรัสตัวอื่นได้

          โดยก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ตัวยา Favipiravir ซึ่งผลิตที่ญี่ปุ่นและจีน จะต้องใช้ยา 70 เม็ด ต่อผู้ป่วย 1 รายฟาวิพิราเวียร์ มีหลายชื่อเรียก อาทิ T-705 ส่วนชื่อการค้าคือ Avigan และ Favilavir มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative) ค้นพบโดยบริษัทโตยามะเคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ในประเทศญี่ปุ่น 

          ยานี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในแถบแอฟริกาตะวันตกช่วงปี พ.ศ. 2557-2559 

ขอขอบคุณที่มาจาก: ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha