แบงก์ชาติ คลอดมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน

            หลังจากที่รัฐบาลมีการประกาศเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ทั้งนายจ้างและลูกจ้างกลุ่ม 9 อาชีพใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดง อย่างไรก็ตาม แม้จะได้เงินเยียวยามา แต่หนี้สินทุกอย่างก็ยังคงต้องจ่าย ดังนั้นการเยียวยาอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

           ล่าสุด วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย จับมือสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ มีการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้ตรงจุดด้วยการออกมาตรการเร่งด่วน พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย แก่นายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมและนอกพื้นที่ควบคุม ที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป และเมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้ สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหนี้

         ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจน กระปุกดอทคอมจะมาสรุปเงื่อนไขเป็นข้อ ๆ อีกครั้งว่า ใครมีสิทธิได้รับการพักชำระหนี้ และวิธีการขอพักชำระหนี้นั้นเป็นอย่างไร มาดูกันได้เลย

ใครบ้างที่จะได้รับการพักชำระหนี้

         – ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ นายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ต้องปิดกิจการจากคำสั่งทางการ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และนอกพื้นที่ควบคุม

         – ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม คือ ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขนี้ สถาบันทางการเงินจะพิจารณาช่วยเหลือตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้อีกครั้ง

วิธีขอพักชำระหนี้

         ลูกหนี้สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ถ้าหากมีหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบที่ได้รับจากมาตรการรัฐ จะทำให้พิจารณาความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว[ads]

คำแนะนำจากธนาคารแห่งประเทศไทย

         ธปท. เตือนว่า การพักชำระดอกเบี้ยและเงินต้น เป็นเพียงการเลื่อนออกไปเท่านั้น ลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ ควรชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้หนี้ในอนาคตสูงเกินจำเป็น เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ก็ควรดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาตรงจุดและยั่งยืนกว่า

         นอกจากนี้ การพักชำระหนี้ครั้งนี้ เป็นความช่วยเหลือแบบ "ขั้นต่ำ" สถาบันสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้ตามความเหมาะสม ข้อมูลข้างต้นนั้นหวังว่าจะเกิดประโยชน์แก่หลายท่านนะคะ ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ลองติดต่อธนาคารใกล้บ้านท่านดูค่ะ 

ขอขอบคุณที่มาจาก: ธนาคารแห่งประเทศไทย