แฉกลโกงแก๊งลิขสิทธิ์ตบทรัพย์ และวิธีเอาตัวรอดเมื่อโดนล่อซื้อ

        กลายเป็นเรื่องราวที่สร้างความฮือฮาอย่างมากสำหรับกรณีที่กลุ่มลิขสิทธิ์ล่อซื้อกระทงจากเด็กสาวอายุ 15 ปี โดยวิธีการสั่งทำกระทง แล้วให้เด็กมาส่งถึงที่ก่อนจะทำการจับกุม และเรียกเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์จากเหยื่อ โดยล่าสุดทางเพจ RNwealthmanagement ได้ออกมาโพสต์ถึง กระบวนการทำงานของแก๊งลิขสิทธิ์นี้ว่า

แก๊งลิขสิทธิ์ตบทรัพย์..?

     เมื่อเร็วๆนี้ผมต้องไปจัดการกับพวกแก๊งลิขสิทธิ์ตบทรัพย์ ที่ออกอาละวาดหนักทำมาหากินเป็นล่ำเป็นสัน เป็นผีสิงสถิตอยู่ที่โรงพักใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการหารับประทาน เข้าหลักทฤษฎีผลประโยชน์ร่วมแบ่งปันซึ้งเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต

     พวกเขาเริ่มด้วยการจัดตั้งบริษัท และขอซื้อลิขสิทธิ์จากเจ้าของลิขสิทธิ์ จากนั้นหาตัวแทน หรือพนักงานบริษัทตัวเอง ผู้รับอำนาจช่วง ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ (จ่ายกัน50:50) แก๊งพวกนี้มันออกเดินสายหาเหยื่อทีละจังหวัดย้ายไปเรื่อย

     แก๊งค์พวกนี้จะมีชายประมาณ 3-5คน หน้าตาและพฤติกรรม บ่งบอกได้ถึงความเป็นโจรชัดเจน บอกว่าเราละเมิดลิขสิทธิ์ อ้างว่าต้องขึ้นโรงพัก ขึ้นศาล เสียค่าปรับต่างๆนาๆ ผู้ประกอบการบางรายตกใจเลยเข้าทางของพวกมัน โดนข่มขู่เพื่อให้จ่ายเงินประมาณ 30,000,-50,000 เป็นแสนก็มี บางรายกลัวมากก็โดนมากกว่านี้ มันจะรวบรัดให้เซ็นเอกสารยอมรับข้อกล่าวหา แล้วเสนอให้จ่ายที่นี่เพื่อให้เรื่องจบ ก็โดนตบทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนจีน คนส่วนใหญ่ 90% ยอมจ่ายเงินให้กับพวกมันเพราะความไม่รู้และกลัวถูกจับปรับเป็นแสน

     หากรายใดหัวแข็งจะพาไปโรงพัก ตำรวจคนใดที่มีผลประโยชน์ร่วมกับตัวแทนลิขสิทธิ์ จะฟิตขึ้นมารีบทำคดีทันที โดยร้อยเวรจะแจ้งว่าเขาดำเนินคดีคุณ และจะเกลี้ยกล่อมให้คุณจ่าย หากคุณไม่จ่ายก็จะโดนตำรวจขู่มากมาย เช่น ประกันเป็นแสน หรือหากขึ้นศาลจะโดนปรับเป็น แสนๆ มันโม้ ตำรวจหรือ มาเฟีย กันแน่..!

     – ถ้าตัวแทนมันโง่มากไม่รู้กฎหมายยังดื้อแจ้งความ คุณก็อย่าไปจ่ายนะครับ คดีล่อซื้อแบบนี้ศาลยกฟ้องครับ คุณชนะแน่นอน – ส่วนใหญ่พวกนี้ไม่โง่มันแจ้งความแต่มันไม่ฟ้องศาลหรอกครับมันเสียเวลา ถ้าไม่จ่ายมันก็กลับไปเฉยๆ เดี๋ยวมันก็มาถอนแจ้งความ หรือต่อให้ฟ้องศาลไปแล้ว พวกตัวแทนพวกนี้มันไม่มาขึ้นศาลหรอกครับมันกลัวความผิดที่มันทำ คุณก็ชนะอยู่ดี

     หากมันแจ้งความให้คุณบอกร้อยเวรไปเลยว่าคุณมามอบตัวขอต่อสู้คดีและจะให้การในชั้นศาล และคุณก็กลับบ้านได้ไม่ต้องประกันตัว เพราะคุณมามอบตัว ตำรวจเขาไม่อยากทำสำนวนส่งฟ้องศาลหลอกครับเพราะเขาก็ขี้เกียจและรู้ว่าศาลจะยกฟ้องอยู่ดี เพราะขาดเจตนาและเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต การล้อซื้อเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ คุณชนะแน่นอน แต่ถ้าผิดจริงคุณก็ไปสารภาพในชั้นศาลผ่อนหนักจะได้เป็นเบา

        หากเป็นเจ้าของสิทธิ์จริงต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ก่อน โดยจะต้องมีการพิสูจน์หลักฐานว่าผู้มาร้องเรียนนั้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จริง จากนั้นจึงจะมีการขอเจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธ์ เพราะหากเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบลิขสิทธิ์เองโดยที่ยังไม่มีผู้มาร้องทุกข์ จะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยพลการ ซึ่งผิดโทษทางวินัย ถ้าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ของแท้ จะไม่ไถเงินคุณหลอกครับ ของแท้จะมากับตำรวจกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ แต่จะจับแต่ร้านใหญ่ๆที่ละเมิดลิขสิทธิ์คราวละมากๆครับ

สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้และต้องขอดู

      -ขอดูหมายศาลในการขอค้น ใครคือเจ้าทุกข์

      -ขอดูเอกสารการแต่งตั้ง มอบอำนาจ(ตัวจริง)จาก บ.เจ้าของลิขสิทธิ์

       -ขอดูบัตรประจำตัวของพวกมัน (ขอถ่ายรูปเอาไว้ทั้งหมด)

       -ห้ามไปกับมันเด็ดขาดถ้าไปจบ

      -ให้มีคนมารับรู้มากๆ ให้โทรหาทนาย

      -ขอให้ไปจ่ายค่าปรับในศาล

      -หากพวกมันมาตบทรัพย์ ถ้าเห็นว่ายากมันก็ไปหารายต่อไป

ทีของเราเอาคืนบ้าง. มีความผิดได้หลายข้อหา 

      เช่น 1. ฐานบุกรุก มาตรา 362 และ 364 2. ฐานแจ้งความเท็จ มาตรา 137 ,มาตรา 172 ,มาตรา 174 3. ฐานเบิกความเท็จ มาตรา 177 4. ฐานฉ้อโกง มาตรา 341 5. ฐานกรรโชกทรัพย์ มาตรา 337 ถ้าตำรวจบกพร่องละเลยไม่ตรวจสอบแล้วรับแจ้งความ ถ้าปรากฏภายหลังว่าการแจ้งความไม่ถูกต้อง ไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจจริง ตำรวจจะมีความผิดทั้งทางวินัยและอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157

ท้ายนี้หวังว่าคงไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งลิขสิทธิ์ตบทรัพย์กันนะครับ

        ข้อกฎหมาย ที่ควรต้องรู้เกี่ยวกับการล่อซื้อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 บัญญัติว่า ความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เป็นความผิดอันยอมความได้ ผลทางกฎหมายคือ เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้ตัวผู้กระทำละเมิดและรู้ถึงการละเมิด มิฉะนั้นจะขาดอายุความร้องทุกข์ และการแจ้งความร้องทุกข์จะต้องกระทำโดยผู้เสียหาย หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายจะต้องเป็น "ผู้เสียหายโดยนิตินัย" แต่หากผู้เสียหายเป็นผู้มีส่วนร่วม หรือก่อให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น ก็ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คำพิพากษาฎีกาที่ 4301/2543 การที่จำเลยกระทำความผิดโดยทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่ส. ตามที่ส.ได้ ล่อซื้อ นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของส. ซึ่งได้รับการจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ เพราะฉะนั้น การล่อซื้อและการส่งหน้าม้ามาลงเพลงในคอมพิวเตอร์/การล่อเล่นในกรณีเกมส์เพลย์ จึงเป็นกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกานี้ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้องร้านอาหารคำพิพากษาที่ 10579/2551

     โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์…" ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" เท่านั้น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องปรากฏแต่เพียงว่า จำเลยเปิดแผ่นเอ็มพีสามและซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารได้ร้องและฟังเพลงของผู้เสียหาย 1 แผ่น "เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลยแต่ไม่ปรากฏในคำฟ้องว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลงโดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด

       การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตาม พ.ร.บ.จั้ดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185  

ขอขอบคุณที่มาจาก : RNwealthmanagement