เตือนนักดนตรี และชาวหูเหล็ก ระวัง เส้นประสาทหูเสื่อม

         เตือนนักดนตรีและชาวหูเหล็กทุกท่าน นี่อาจจะเป็นสิ่งที่อาชีพนักดนตรี หรือนักร้องมองข้าม กับการที่เราต้องสัมผัสเสียงที่ดังมาๆเป็นเวลาหลายปี อาจจะสะสมและทำให้เรา เจอกับโรคเส้นประสาทหูเสื่อมได้ โดยเนื่อหาดังต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ของนักดนตรีท่านหนึ่ง ซึ่งได้เล่าเพื่อให้อาชีพเดียวกันระวัง โดยระบุว่า 

          เสียเวลาอ่านโพสนี้กันซักหน่อย แล้วตัดสินใจกันเอาเองนะครับว่าควรแชร์บอกต่อให้ใครอีกหลายๆคนได้รู้มั้ยนะครับ เริ่มจากผมมีอาการหูวิ้ง (มีเสียงในหูมากจนกวนการนอนหลับ) ที่หูข้างขวา เริ่มเมื่อเดือนมีนาที่ผ่านมา แน่นอนว่าผมก็ค้นหาข้อมูลต่างๆ นาๆ ซึ่งได้ข้อสรุปจากโซเชียลว่า เป็นเสียงที่อาจจะไม่หายให้ทำใจ ผมก็ทนทำใจที่จะอยู่กับมัน จนมาวันนี้ผมรู้สึกกลัวว่าจะเป็นขี้หูอุดตัน (เคยเป็นเมื่อหลายปีมาแล้ว) จึงตัดสินใจไปรพ. และส่วนตัวผมไม่ชอบรักษากับรพ.รัฐฯ และระบบประกันสังคมซักเท่าไหร่เลยเลือกที่จะไปรพ.เอกชน (จังหวะนี้สปอนเซอร์ประกันต้องเข้าแล้วนะ 555+)

ขั้นตอนแรก – หมอส่องดูหูชั้นนอก ไม่มีขี้หูอุดตัน ผมเริ่มกลัวแล้วเพราะไม่เคยคิดว่าจะเป็นอะไรกับอวัยวะข้างใน

ขั้นตอนที่สอง – เข้าห้องตรวจหูชั้นกลางและชั้นใน ขั้นตอนนี้ผมรู้สึกสนุกกับมันมากกว่า เริ่มจากเข้าไปในห้องเก็บเสียง ใส่หูฟังแล้วหมอจะปล่อยเสียงแต่ละย่านในระดับความดัง-เบาแต่ละข้างออกมา และให้เรากดปุ่มเมื่อได้ยินเสียง ขั้นตอนนี้ค่อนข้างนาน มีคลิปตัวอย่างการตรวจขั้นตอนนี้ด้านล่างนะครับ

ขั้นตอนสุดท้าย – สรุปอาการ หมอบอกผมเป็น "เส้นประสาทหูเสื่อม" หรือเข้าใจง่ายๆ คือ หูเริ่มตึงเร็วกว่าปกติ ซึ่งโรคนี้จะพบในคนแก่มากกว่า หมอบอกต่อเลยว่า นักดนตรีมาหาหมอและตรวจเจอโรคนี้เป็นกันเยอะมากๆ คราวนี้ดูที่รูปประกอบนะครับ ผมขอหมอถ่ายเอกสารกลับมาให้เองครับ หมอบอกว่า ปกติหูคนจะได้ยินเสียงตั้งแต่ 20 db ทั้งสองข้าง แต่อาการผมในช่วงย่าน 4k ทั้งหูชั้นกลาง (เส้นทึบ) และหูชั้นใน (เส้นประ) ต้องเพิ่มความดัง 30 – 50 db ซึ่งผิดปกติมาก (ผมไม่ได้แก่เร็วนะ 555+)

สาเหตุมาจาก : ได้ยินเสียงดังมากเกินไปเป็นเวลานานๆ ถึงช่วงหลังๆ ผมจะไม่ได้เล่นหรือฟังเสียงดังๆ แล้ว แต่มันสะสมนะครับ เมื่อก่อนชอบดังเข้าไว้ แหลมๆ คมๆ ยิ่งดี (ผมจึงพึ่งรู้สึกหูวิ้งในช่วงมีนา ซึ่งจริงๆ แล้วมันวิ้งมานานแล้วแต่ผมไม่รู้ตัว)

การรักษา : กินยาปรับความดันในหู และฟื้นฟูเส้นประสาท ทั้งหมด 3 ตัว เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ส่วนเสียงวิ้งในหูอาจจะไม่หาย ก็ต้องปรับตัวอยู่กับมันครับ[ads

ข้อแนะนำจากหมอ : นอกจากจะต้องหลีกเลี่ยงเสียงดังแล้ว ผมได้ถามหมอเกี่ยวกับหูฟังมอนิเตอร์ (Ear Monitor) ผมได้อธิบายให้หมอฟังเกี่ยวกับหูฟังประเภทนี้ หมอบอกหากเรายังต้องเล่นดนตรีเสียงดังๆ อยู่ นี่เป็นทางเดียวที่จะป้องกันจากเส้นประสาทหูเสื่อมเลยทีเดียว และสำหรับคนหูเหล็กนักฟัง แนะนำ Ear Plug ครับ

เสร็จการตรวจชำระเงิน 1,618 บาท หูตึงเลยทีนี้ !!

หมอให้ซื้อยาเองอีก 230 บาท ถ้าซื้อรพ.ก็แพงหูกระจุยแน่นอน ทั้งหมดนี้ผมอยากแชร์ประสบการณ์ความรู้ให้ทุกคนใส่ใจกับสุขภาพหูด้วยนะครับ

ลงทุนกับเครื่องดนตรีไปเป็นหลักแสนหลักล้าน

ลงทุนกับสมองตามดูตามเสพมาไม่รู้เท่าไหร่

ลงทุนกับนิ้วมาทั้งชีวิตซ้อมๆ ไปเรียนๆ

        อย่าลืมลงทุนกับหูด้วยนะครับ สำหรับผมถ้าต้องพิการหรือเสียอะไรไป สิ่งสุดท้ายที่ผมจะขอเก็บไว้คือ หู เพราะดนตรีที่เราชอบเป็นชีวิตจิตใจเป็นงานศิลปะ ด้านการได้ยิน มองไม่เห็น เล่นไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ยังได้ยิน และยังสามารถถ่ายทอดเสียงจากสมองออกมาได้ทางใดทางหนึ่ง 

            นักดนตรีก็ต้องระวังกันหน่อยนะคะ หากเรายังต้องเล่นดนตรีเสียงดังๆอู่ ต้องใช้หูฟังมอนิเตอร์ (Ear Monitor) นี่เป็นทางเดียวที่จะป้องกันจากเส้นประสาทหูเสื่อมเลยทีเดียว และสำหรับคนหูเหล็กนักฟัง แนะนำ Ear Plug หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่หลายท่านนะคะ โดยเฉพาะอาชีพนักดนตรี

ขอขอบคุณที่มาจาก: Jutasin Rungwattanachai