เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ลงทะเบียนอย่างไร ถึงจะมีสิทธิ์รับเงิน

       โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ที่ล่าสุดทางรัฐบาลได้ปรับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเป็น 00 บาทต่อคนต่อเดือน และขยายช่วงเวลาจ่ายเงินจนถึงอายุ 6 ขวบ ซึ่งวันนี้เราเลยมีมาเผยวิธี ลงทะเบียนรับเงินสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยไปดูกันเลยค่ะ 

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2562 ลงทะเบียนเมื่อไร อยากได้เงินเพิ่มต้องมาลงใหม่ไหม 

       เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ปีงบประมาณ 2562 ได้ปรับเพิ่มจาก 400 บาท เป็น 600 บาทต่อคนต่อเดือน และขยายอายุจ่ายเงินจาก 3 ขวบ เป็นถึง 6 ขวบ ทำให้การลงทะเบียนปี 2562 จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 

          1. เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2561 ที่เคยลงทะเบียนได้สิทธิ์รับเงินแล้ว  ไม่ต้องมาลงทะเบียนใหม่ จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมโดยอัตโนมัติ

          2. เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2561 ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนสามารถมาลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2562 โดยจะได้รับเงินตั้งแต่เดือนที่ได้รับอนุมัติ ไม่มีการจ่ายย้อนหลัง

          3. เด็กที่เกิดตั้งแต่หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป หากยังไม่ได้ไปลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2562 โดยจะได้รับเงินตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 6 ขวบ 

          สรุปคือใครได้สิทธิ์รับเงินอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียนใหม่ ทางรัฐบาลจะทำการเพิ่มเงินอุดหนุนของงวดปีงบประมาณ 2562 ให้อัตโนมัติ ส่วนใครที่ยังไม่เคยลงทะเบียนรับสิทธิ์ ก็สามารถดำเนินการได้ตามวันดังกล่าว 

สถานที่ลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 

          – ผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร : ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตตามภูมิลำเนา

          – ผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด : ลงทะเบียนที่สำนักงานเทศบาล หรือที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลตามภูมิลำเนา

          – ผู้ที่มีภูมิลำเนาในเมืองพัทยา : ลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

          – กรณีทำงานหรืออาศัยในต่างภูมิลำเนา : อนุโลมให้ไปลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตในกรุงเทพฯ, เมืองพัทยา หรือเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่จริง

ใครบ้างมีสิทธิ์ รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

           โครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเงิน เริ่มมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ 2562 เพราะฉะนั้น ผู้มีสิทธิ์จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

          1. เป็นเด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2562

          2. อยู่ในครอบครัวยากจน หรือเสี่ยงต่อความยากจน คือ ครัวเรือนที่สมาชิกในครอบครัว มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคนต่อปี

          3. มีสัญชาติไทย (บิดาและมารดา/บิดาหรือมารดา เป็นผู้มีสัญชาติไทย)

          4. กรณีมารดาเด็กเป็นคนต่างด้าว หรือไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือเสียชีวิต อนุโลมให้บิดาเด็กสัญชาติไทยตามสูติบัตร ลงทะเบียนแทนมารดาเด็กได้หลังจากเด็กเกิดแล้ว โดยให้นำเอกสารหลักฐานของบิดา-มารดา ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐมายื่นเพื่อแสดงความจำนงขอรับสิทธิ์

          5. ต้องไม่เป็นผู้ได้รับเงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรจากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรืออยู่ในความดูแลของหน่วยงานของรัฐ เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว สถานสงเคราะห์ของรัฐ แต่ถ้าหากได้รับเงินสงเคราะห์บุตรจากกองทุนประกันสังคม หรือได้รับเงินสงเคราะห์เป็นครั้งคราว หรือเบี้ยความพิการ ยังคงมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

วิธีคำนวณรายได้ในครัวเรือน เพื่อรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

          เกณฑ์สำคัญในการพิจารณาจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด คือ รายได้ในครัวเรือน ที่กำหนดว่าต้องเป็นครอบครัวที่สมาชิกมีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเราสามารถได้ด้วยการนำรายได้ของสมาชิกทั้งหมดในครอบครัว หารด้วยจำนวนสมาชิกทั้งหมดในครอบครัว (รวมเด็กแรกเกิดด้วย) 

          เช่น มีสมาชิกครอบครัว 3 คน ประกอบด้วย พ่อ มีรายได้ 8,000 บาทต่อเดือน, แม่ ไม่มีรายได้ และลูกที่เป็นเด็กแรกเกิด ไม่มีรายได้ จะคำนวณได้ดังนี้ 

          รายได้ทั้งหมดในครอบครัว / จำนวนสมาชิกทั้งหมด = 8,000 / 3 

          สรุปแล้ว ครอบครัวนี้มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2,666 บาทต่อเดือน หรือ 31,992 บาทต่อปี ซึ่งต่ำกว่า 100,000 บาท แสดงว่าจะมีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดนั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงการสอบถามรายได้อาจไม่ได้ข้อมูลที่ตรงกับข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่จึงจะนำข้อมูลสถานะของครัวเรือนที่กรอกไว้ในแบบ ดร.02 มาประกอบการพิจารณาด้วย โดยต้องมีข้อเท็จจริงข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

          1. ครอบครัวมีภาระพึ่งพิง ได้แก่ ในครอบครัวมีคนพิการ หรือผู้สูงอายุ หรือเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือคนว่างงาน อายุ 15 – 65 ปี หรือเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

          2. สภาพที่อยู่อาศัย ต้องมีสภาพบ้านชำรุดทรุดโทรม บ้านทำจากวัสดุพื้นบ้าน เช่น ไม้ไผ่ ใบจาก หรือวัสดุเหลือใช้ หรืออยู่บ้านเช่า

          3. ไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล รถปิกอัพ รถบรรทุกเล็ก รถตู้

          4. เป็นเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินไม่เกิน 1 ไร่ 

เอกสารที่ใช้ลงทะเบียน รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

          1. แบบลงทะเบียน (ดร.01) 

          2. แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02) ที่ได้รับการรับรองแล้วจากบุคคล 2 คนคือ

          ผู้รับรองคนที่ 1

          – กรุงเทพมหานคร : ให้หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ สำนักงานเขต หรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) หรืออาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) หรือประธานชุมชน เป็นผู้รับรอง

          – เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล, เมืองพัทยา : ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรืออาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชน เป็นผู้รับรอง

ผู้รับรองคนที่ 2

           – กรุงเทพมหานคร : ผู้อำนวยการเขต หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย – เมืองพัทยา : ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล/เมืองพัทยา/ผู้อำนวยการเขต หรือข้าราชการที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับรองสิทธิ์ในแบบ ดร.02 ส่วนที่ 4

          3. แบบยืนยันเอกสารการลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (แบบ ดร.04)

          4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของแม่เด็ก หรือพ่อของเด็ก หรือผู้ปกครองของเด็ก แล้วแต่กรณี 

          5. สำเนาเอกสารการฝากครรภ์ หรือสำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก หน้า 1

          6. สำเนาสูติบัตรเด็กแรกเกิด 1 ฉบับ (นำมายื่นหลังคลอด)

          7. สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (สามารถยื่นภายหลังได้รับการแจ้งสิทธิ์)

          8. สำเนาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ถ้ามี) 

ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเท่าไร

          ปัจจุบันผู้ที่ลงทะเบียนในโครงการนี้ จะได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด จำนวน 600 บาทต่อเดือน  นับตั้งแต่เดือนที่เด็กเกิด จนถึงอายุ 6 ขวบ โดยสามารถรับเงินด้วยตนเองได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) หรือกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) หรือรับผ่านบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนไว้

          อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่คลอดบุตรหลังจากช่วงที่กำหนด คือ วันที่ 30 กันยายน 2562 หรือเด็กเสียชีวิตระหว่างอยู่ในครรภ์ จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในปีงบประมาณ 2562

วิธีตรวจสอบผลการลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

          หลังจากยื่นเอกสารขอลงทะเบียนแล้ว จะมีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ณ สำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เราเคยลงทะเบียนไว้ โดยจะติดประกาศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณานั้น ทางจุดลงทะเบียนจะมีการแจ้งผลให้รับทราบต่อไป 

วิธีรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

          1. โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่แจ้งไว้ในแบบลงทะเบียน

          2. โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์ (Promptpay) 15 ธนาคาร (สำหรับผู้ที่ผูกบัญชีพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของบัญชีเท่านั้น) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, กสิกรไทย, ธนชาต, กรุงศรีอยุธยา, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, อิสลามแห่งประเทศไทย, ออมสิน, เกียรตินาคิน, ธ.ก.ส., ทหารไทย, ซีไอเอ็มบี ไทย, ไทยพาณิชย์, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, กรุงเทพ และทิสโก้

          โดยจะได้รับเงินภายในวันที่ 10 ของแต่ละเดือน ซึ่งหากยังไม่ได้รับเงินภายในช่วงเวลาที่กำหนด สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยลงทะเบียนไว้ หรือสอบถามที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โทร. 02 255 5850-7 ต่อ 122, 123, 147 และ 0 -2651-6534

กรณีตั้งครรภ์ลูกแฝด จะได้รับเงินอุดหนุนเท่าไร

          หากคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วปรากฏว่าคลอดออกมาเป็นลูกแฝด จะได้รับเงินอุดหนุนตามจำนวนเด็กที่เกิดมาเลย คือ ถ้าคลอดบุตร 2 คน ก็จะได้รับเงินอุดหนุน 1,200 บาทต่อเดือน หรือ 3 คน ก็จะได้ 1,800 บาทต่อเดือน

กรณีแม่คนเดิมมีบุตรเพิ่ม ต้องลงทะเบียนใหม่หรือไม่ 

          กรณีที่แม่คนเดิมมีบุตรเพิ่ม แล้วต้องการได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเพิ่มเติม จะต้องไปดำเนินการลงทะเบียนใหม่ทุกครั้งที่มีบุตร โดยทำเหมือนการลงทะเบียนครั้งแรกตามปกติ 

กรณีพ่อแม่มีสิทธิประกันสังคม ยังได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดไหม 

          ปัจจุบันรัฐบาลได้ขยายสิทธิ์ให้ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร สามารถรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดในปี 2562 ได้แล้ว หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนดและเป็นครอบครัวที่มีฐานะยากจนจริง จากเดิมที่ให้สิทธิ์ดูแลเพียงกลุ่มที่อยู่นอกประกันสังคมเท่านั้น 

ผู้เลี้ยงดูเด็กที่ไม่ใช่แม่ ขอรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดได้ไหม

          กรณีที่ผู้เลี้ยงดูเด็กไม่ใช่แม่ แต่เป็นคนอื่น เช่น พ่อ ปู่ ย่า ตา ยาย สามารถสมัครเพื่อรับเงินได้ โดยต้องให้แม่ของเด็กเป็นผู้แจ้งความประสงค์ในแบบ ดร.01 เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารให้ผู้เลี้ยงดูเด็ก หรือมอบอำนาจให้ผู้เลี้ยงดูเด็กเป็นผู้รับเงินแทนได้

       แต่ถ้ากรณีที่เด็กอยู่ในความดูแลของบ้านพักและครอบครัว หรือสถานสงเคราะห์ของรัฐ จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว เนื่องจากถือว่าได้รับการดูแลจากภาครัฐแล้ว

       สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ก็ลองตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองดูนะคะ ถ้าตรงตามนี้ก็แสดงว่ามีสิทธิที่จะได้ระบเงิน และลงทะเบียนรับสิทธิได้ทันที และหากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โทร. 02 255 5850-7 ต่อ 122, 123 , 147 และ 0 -2651-6534  

ขอขอบคุณที่มาจาก : kapook.com