หมอเด็กแนะ ช่วงอายุที่เหมาะให้ลูกกินอาหารแบบปรุงรส 

        สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยที่เริ่มให้อาหารเสริมนอกเหนือจากนม โดยอายุที่เหมาะสมก็คือช่วง 6 เดือนขึ้นไป แต่พอเริ่มป้อนอาหารลูกแล้ว แม่ก็อาจจะเป็นกังวลเนื่องจากว่าลูกอาจจะกินอาหารได้ไม่เยอะ จึงคิดอยากจะปรุงอาหารให้ลูกเพื่อลูกจะได้กินเยอะขึ้น ล่าสุดทางเพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ คุณหมอเด็กชื่อดังได้ออกมาโพสต์แนะนำถึงเรื่องนี้ว่า 

#ให้ลูกกินอาหารแบบผู้ใหญ่ได้เมื่อไร

"จะปรุงอาหารให้ลูกโดยใช้เกลือ น้ำตาล น้ำปลา ฯลฯ ได้ตอนอายุเท่าไร ตอนนี้เขาอายุประมาณ 9 เดือน ที่บ้านชอบบอกว่า ให้กินอาหารแบบผู้ใหญ่ได้แล้ว อย่าไปเชื่อหมอมาก" 

เด็กทานอาหารแบบผู้ใหญ่ได้เลยค่ะ แต่ทำให้ละเอียดกว่า เพราะยังเคี้ยวและกลืนไม่เก่ง แต่มีข้อแม้..ผู้ใหญ่ที่เด็กจะเลียนแบบ ต้องทานแต่อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งในความเป็นจริงคือ ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนเป็นแบบนั้นค่ะ 

เอาแค่เรื่องปรุงรส ไม่ว่าจะเป็น น้ำปลา ซอสปรุงรส ซี่อิ๊ว น้ำตาล เกลือ ผงชูรส ของเหล่านี้ ล้วนไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นกิมมิกที่ทำให้อาหารอร่อย และกินอาหารได้เพิ่มขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น จนถึงทำให้กินมากเกินไป จนเกิดปัญหาโรคอ้วน โรคน้ำหนักเกินกันทั่วหน้า..จริงไหมคะ ..เอาแค่ซอสปรุงรส ถ้าดูฉลาก ก็จะเห็นว่า อุดมไปด้วย เกลือ น้ำตาล แป้งสาลี ถั่วเหลือง สารกันบูด สีผสมอาหาร ผงชูรส 

เด็กไม่ควรกินอาหารที่ปรุงรสจนกว่าอายุจะหนึ่งขวบหรือยิ่งช้ายิ่งดี เพราะว่า ไตของเด็กทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ หากได้รับเกลือมากเกินความสามารถในการกำจัด จะทำให้ไตต้องทำงานหนัก เกิดภาวะเป็นพิษจากเกลือโซเดียมคั่ง ทำให้ซึม ชัก สมองบวมได้

หากลูกเคยชินกับรสเค็ม รสหวานตั้งแต่เล็ก จะทำให้ชอบกินเค็มกินหวานมากขึ้นเรื่อยๆ กว่าเขาจะโตก็คงเป็นคนที่กินเค็มจัดหวานจัด ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคเบาหวานได้

เมื่อลูกกินของที่มีรสหวานบ่อยๆ จะทำให้เป็นโรคอ้วน ฟันผุ ลูกจะเลือกกินแต่ของที่มีรสชาติเข้มข้นจากการปรุงแต่ง เช่น จั๊งค์ฟู้ด ขนมถุงๆกรอบๆ จะไม่ชอบกินอาหารรสธรรมชาติหรือรสฝาดของผัก ทำให้ลดโอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์

ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีกินน้ำผึ้ง จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคโบทูลิซึ่ม ทำให้เกิดกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจไม่ได้ เนื่องจากอาจมีสปอร์จากเชื้อโรคปนเปื้อน อย่าคิดว่าสารหวานจากธรรมชาติไม่มีอันตราย 

แต่เนื่องจาก ปัจจุบันพบว่า ธาตุไอโอดีนซึ่งเป็นสารที่จำเป็นต่อการพัฒนาของร่างกายแล้วสมอง ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติของ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ขนมปัง และผักหลายอย่าง มีปริมาณลดลง แม้แต่ในอาหารประเภททะเล ก็พบไอโอดีนลดลง ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการขาดสารจำเป็นตัวนี้ จึงแนะนำให้เติมเกลือไอโอดีนในอาหารของทารกได้ โดยเติมเพียงสองหยิบนิ้วมือต่อข้าว 1 มื้อ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ให้มีรสเค็มแต่อย่างใด

หากลูกกินอาหารได้น้อย อาจไม่ได้เป็นเพราะเบื่ออาหารรสจืด ดังนั้นการปรุงรสอาจไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่อาจเป็นเพราะลูกอยากกินอาหารที่หยาบขึ้น หน้าตาและสีสันของอาหารก็มีส่วนช่วยให้ลูกกินได้ดีขึ้น ลูกอาจไม่ชอบอาหารที่ตุ๋นรวมกันแต่ชอบกินแบบเป็นกับข้าวเหมือนผู้ใหญ่กิน อาจอยากกินด้วยตัวเองหรือกินพร้อมหน้าพร้อมตากันหลายๆคน 

ที่ถูกต้องคือ เด็กที่ไม่ชินกับอาหารปรุงรส เพราะพ่อแม่ไม่เคยให้ลูกทานขนม หรือ อาหารปรุงรส กลับกลายเป็นเด็กที่ทานอาหารจากธรรมชาติได้ดีกว่า เพราะต่อมรับรสที่ลิ้นจะได้รับรสอร่อย รสสัมผัสที่แท้จริงของ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ซึ่งตรงกับหลักการของการกินอาหารคลีนเพื่อสุขภาพที่เรารู้จักกันดี ถ้าใครชินกับการปรุงแต่ง พอมาทานอาหารไม่ปรุงแต่ง จะรู้สึกว่าจืดชืด ไม่อร่อย

หากต้องการปรุงรสจริงๆ เนื่องจากลองหลายวิธีแล้ว ลูกก็ยังกินได้น้อย ก็ควรใช้สารอื่นทดแทน เช่น การปรุงด้วยเครื่องเทศ เช่น กระเทียม กระวาน พริกไทย ใบมิ้นท์หรือใบสาระแหน่ น้ำซุปกระดูก หรือการใช้เนื้อผลไม้หรือน้ำผลไม้แทนน้ำตาล 

เด็กอายุ 9 เดือนหลายคนเริ่มทานอาหารหยาบได้แล้ว ถ้าลูกกลืนได้โดยไม่ติดคอ และกินได้โดยใช้เวลาไม่นานเกินกว่าตอนกินข้าวที่บดละเอียดมากนัก ระบบขับถ่ายไม่ผิดปกติ คือ ไม่ท้องผูกหรือท้องเสีย ถึงจะมีกากอาหารออกมากับอึบ้าง ก็ไม่เป็นไรค่ะ

#นมแม่ป้าหมอสุธีรา 

โดยสรุปแล้วการปรุงอาหารให้เด็กเล็กคุณหมอยังไม่แนะนำ จนกว่าลูกจะโตพอ หรืออายุครบ 1 ขวบ ส่วนการที่ลูกทานอาหารได้น้อยคุณแม่ลองทานไปพร้อมๆ กับลูก หรือเปลี่ยนวิธีการทำอาหารให้ลูกดูนะคะ 

 ขอขอบคุณที่มาจาก : สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ