ส่งเสริมปลูกถั่วเขียวขายสหรัฐฯ แทนพืชอื่นลดผลกระทบภัยแล้ง

         แม้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงหน้าฝนไปหลายเดือนแล้ว  แต่ภาพรวมแล้วปริมาณน้ำฝนก็ยังอยู่ในระดับต่ำ และฝนทิ้งช่วงนาน นับเป็นสถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาล (ภัยแล้งช่วงหน้าฝน) ทำให้หลายๆพื้นที่ได้รับผลกระทบ นาข้าว และพืชผลเสียหาย

 

        ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมนา “Agri Forum 2019 เกษตรกรปลอดการเผา” นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มนักลงทุนจากสหรัฐฯเสนอจะรับซื้อถั่วเขียวจากไทย 1 แสนตัน โดยจะจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้ไทย และประกันราคารับซื้อเป็นเวลา 5 ปี พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 5 ล้านไร่ โดยมีเงื่อนไขที่จะโอนเงินประกันราคาประมาณ 1,000 ล้านบาท เข้ามาเป็นเงินกองทุนประกันราคา โดยอาจจะลักษณะการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า หรือ คอนแทคฟาร์มมิ้ง

       โดยแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง เพราะถั่วเขียวเป็นพืชใช้น้ำน้อยสามารถปลูกร่วมในพื้นที่อ้อย หรือ ข้าวได้ รวมถึงยังช่วยเพิ่มการส่งออก เพราะปัจจุบันคนในสหรัฐฯลดการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์และหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชแทนมากขึ้น และเห็นว่า ไทยมีดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก 

        นายประภัตร ยังเสนอว่า การเพาะปลูกถูกเขียวควรทำเป็นแปลงใหญ่ โดยเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม และคำนวณปริมาณผลผลิตที่ชัดเจน โดยจะมอบหมายให้กรมวิชาการการเกษตร หารายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งรายละเอียดของเมล็ดพันธุ์

        สำหรับปัญหาการเผาพื้นที่การเกษตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า จะต้องหาตลาดให้เกษตรกรมีรายได้จากวัสดุการเกษตรเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยว เช่น การขายฟางข้าวที่ได้ราคาไร่ละ 1,000 บาท และใบอ้อยขายได้1,000 บาทต่อตัน เมื่อมีรายได้ที่ชัดเจน เชื่อว่าเกษตรกรก็ลดการเผาลง และตั้งเป้าหมายปลอดการเผา 140 ล้านไร่  ภายใน 3 ปี

        ด้านนายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ได้วางมาตรการไว้ 3 เรื่องคือการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้ชาวนาและการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนรวมถึงมาตรการทางกฎหมาย เพื่อจะร่วมกันส่งเสริมให้ชาวนาทำเกษตรแบบปลอดการเผา โดยในปีนี้จะนำร่องใน 6 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาทและปทุมธานี ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศ

ขอขอบคุณที่มาจาก : workpointnews.com