สรุปเรื่องรถไฟสายสีแดง แบบเข้าใจง่าย หรูหราวิ่งไกลถึงมหาชัย

        เรียกได้ว่า ผู้โดยสารหลายๆ ท่านที่มีบ้านอยู่แถวชานเมือง คงจะรอคอยรถไฟสายสีแดงกันแน่นอน วันนี้เราเลยอยากจะขอนำเอาสรุปเรื่องรถไฟสายสีแดงแบบเบสิค เข้าใจง่าย ที่ทางเพจ ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน ได้ออกมาโพสต์สรุปเรื่องนี้ระบุว่า

      สรุปเรื่องรถไฟสายสีแดงแบบเบสิค เข้าใจง่าย ในโพสต์เดียว (ภาพประกอบโดย ข่าวและภาพกิจกรรมกระทรวงคมนาคม)

     ด้วยความที่ภาพมันถูกปล่อยมาแบบกะทันหัน เช้ามาก ยังนอนไถโทรศัพท์อยู่แล้วเห็น ก็เลยยังทำคอนเทนต์ไม่ทันกับความตื่นเต้นที่เกิดขึ้น (เชื่อเหอะ ตาสว่างเด้งจากเตียงกันไปหลายคนเพราะเรื่องนี้เหมือนกัน) แล้วอีกอย่างคือหลายคนยังรู้จักรถไฟสายสีแดงกันยังไม่ถึงกึ๋น ยังมีคนเข้าใจว่าตรงดอนเมืองสร้างทางด่วนอยู่เลย

เอาล่ะครับ มาทำความรู้จักกับรถไฟสายสีแดงเพื่อใหม่กันเลยครับ

       1. เป็นระบบรถไฟชานเมือง (Commuter) รอบไม่ถี่ สถานีห่างในระยะเดินแล้วหอบ ความเร็วที่ใช้สูงกว่า 80 กม./ชม. มีผู้ให้บริการเดินรถคือ รฟฟท. (SRTET) ซึ่งไม่ใช่รถไฟแบบ Metro เหมือน BTS MRT คนละประเภทกันนะ อย่าเอามาปนกัน

     2. เส้นทาง มีศูนย์กลางที่สถานีกลางบางซื่อแล้วพุ่งออกไป 4 ทิศ

สายสีแดงเข้ม

     2.1 ทิศเหนือ : บางซื่อ – รังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบส่วนต่อขยายที่บ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ตามแผนแม่บท

     2.2 ทิศใต้ : บางซื่อ – หัวลำโพง – มหาชัย และจบส่วนต่อขยายที่ปากท่อ จ.ราชบุรี ตามแผนแม่บท

สายสีแดงอ่อน

      2.3 ทิศตะวันตก : บางซื่อ – ตลิ่งชัน – ศาลายา จบส่วนต่อขยายที่นครปฐม ตามแผนแม่บท 

     2.4 ทางแยกทิศตะวันตก : ตลิ่งชัน – ศิริราช

     2.5 ทิศตะวันออก : บางซื่อ – มักกะสัน – หัวหมาก จบส่วนต่อขยายที่ฉะเชิงเทรา ตามแผนแม่บท

ทางวิ่งบางสายจะกว้างมากเพราะมีรถไฟปู๊นๆ วิ่งด้วย เช่นช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง

     3. แนวเส้นทางขนานไปตามทางรถไฟเดิมของ รฟท.

     4. ถ้าจะให้พูดง่ายๆ ระบบรถไฟสายสีแดงคือการอัพเกรดรถไฟชานเมืองของ รฟท. ให้เป็นรถไฟฟ้า และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนถ่ายจากระบบดีเซลมาเป็นระบบรถไฟฟ้าสำหรับรถไฟทางไกลต่อไป (MAIN IDEA มันอยู่ตรงนี้!!)

     5. โครงสร้างทางเป็นทางยกระดับ ระดับดิน และต่ำกว่าระดับดินแบบคลองแห้ง (นึกภาพไม่ออกให้นึกถึงคลองประปาที่ไม่มีน้ำในคลองแต่มีทางรถไฟ)

     6. เส้นทางที่สร้างแล้ว และพร้อมเปิดในปี 2564 คือ บางซื่อ -รังสิต และบางซื่อ – ตลิ่งชัน (แต่คุณอาคมให้ข่าวว่า ปลาย 63 เลยยัง งงๆ อยู่)

    7. รถไฟ 1 ขบวนมี 2 แบบ คือ 

       7.1 เซ็ต 4 ตู้ ใช้วิ่งเส้นสีแดงอ่อน

      7.2 เซ็ต 6 ตู้ ใช้วิ่งเส้นสีแดงเข้ม

ตัวรถผลิตจาก Hitachi ประเทศญี่ปุ่น

      8. การรับไฟฟ้าใช้ระบบสายส่งเหนือหัว (OCS) แบบเดียวกับ Airport Link และรถไฟทางไกลทั่วโลก วิ่งบนทางกว้าง 1 เมตร เท่ารถไฟปกติ ใช้ระบบอาณัติสัญญาณแบบ ETCS (European Train Control System)

     9. ความเร็ว มี 3 ส่วน

     9.1 ความเร็วสูงสุดของตัวรถ ได้ 160 กม./ชม.

     9.2 ความเร็วที่ให้บริการ ในเมืองวิ่ง 120 นอกเมืองวิ่ง 140 อย่าถามว่าตรงไหนในเมืองนอกเมืองนี่ก็ยังไม่รู้ว่าเค้ากำหนดยังไง

     10. สถานีเชื่อมต่อกับสายอื่นๆ บอกหมดทั้งปัจจุบันและอนาคต

เชื่อมแน่ๆ แล้ว

บางซื่อ – MRT สายสีน้ำเงิน บางซื่อ

หลักสี่ – Monorail สายสีชมพู สถานีหลักสี่

ดอนเมือง – ท่าอากาศยานดอนเมือง

บางซ่อน – MRT สายสีม่วง สถานีบางซ่อน

จรัลสนิทวงศ์ – MRT สายสีน้ำเงิน บางขุนนนท์

อนาคต

บางเขน – Monorail สายสีน้ำตาล

ยมราช – MRT สายสีส้ม สถานียมราช

ยศเส – สายสีเขียว สถานียศเส 

หัวลำโพง – MRT สายสีน้ำเงิน สถานีหัวลำโพง

พญาไท – BTS/ARL พญาไท

มักกะสัน – MRT เพชรบุรี ARL มักกะสัน

หัวหมาก – Monorail สายสีเหลืองหัวหมาก (หรือยังใช้ชื่อพัฒนาการอยู่?)

ตลิ่งชัน – สายสีเขียว ตลิ่งชัน

ศิริราช – MRT สายสีส้ม ศิริราช

     11. ทำไมสร้างนาน? เพราะเส้นทางสายนี้มันไม่ใช่แค่รถไฟฟ้า แต่มันมีรถไฟปู๊นๆ ร่วมในเส้นทางด้วย ทั้งสถานี ทั้งทาง ทั้งแนวทางวิ่ง มันเลยแตกต่างกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่เห็น คือถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินคือเค้าอัพเกรดทางรถไฟเดิมให้มันดีขึ้น รองรับการเดินรถไฟฟ้า และความถี่รถมากขึ้น ทำสถานีให้ใหญ่ขึ้นเพราะสถานีกรุงเทพหัวลำโพงมันขยายไม่ได้แล้ว นั่นแหละจ้ะ มันเลยดูอลังๆ หน่อย เพราะมันไม่ใช่แบบ ARL มักกะสันที่รับแค่รถไฟฟ้า แต่นี่คือรถไฟไปเชียงใหม่ หาดใหญ่ สุไหงโกลก หนองคาย อุบล มันก็ต้องมาใช้สถานีและโครงสร้างทางพวกนี้ รถไฟไทยมันกำลังพัฒนาแล้วโหวยยยยยยย แฟนคลับรถไฟถูกใจสิ่งนี้

ประมาณนี้ก่อนนะครับ ยังไงถ้ามีข้อมูลเยอะกว่านี้จะทำคอนเทนต์ให้อ่านกันแบบไม่ไฟลนก้น

สวัสดีวันเสาร์ครับ 

        ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการคมนาคมทางรางที่ต้องการจะพัฒนาให้มีความทันสมัย ทัดเทียมนานาอารยประเทศ และเปิดให้บริการให้ผู้โดยสารได้รับด้วยความสะดวก และคล่องตัวมากขึ้น อีกไม่นานเราคงจะได้ใช้บริการกันแล้ว 

ขอขอบคุณที่มาจาก : ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน