ราคาชุดนักเรียน พบครอบครัวยากจน แบกรับภาระสูงกว่าคนรวย

         เปิดราคาชุดนักเรียน พบครอบครัวยากจน แบกรับภาระสูงกว่าคนรวย สำรวจราคาเครื่องแบบนักเรียน 600-1,500 บาท ต่อชุด ‘เศรษฐกิจไม่ดี’ ผู้ปกครองซื้อชุดนักเรียนเท่าที่จำเป็น  พบนักเรียนสังกัด สพฐ. 3.4 ล้านคน ขาดแคลนชุดนักเรียน ข้อเรียกร้อง ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน” กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง

         เมื่อกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ออกมาเชิญชวนให้โยนทิ้งเครื่องแบบนักเรียน และแต่งกายด้วยชุดไปรเวทไปโรงเรียน พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 ธ.ค. นี้ เพื่อต่อต้านกฎระเบียบเครื่องแบบนักเรียน ที่พวกเขามองว่าล้าหลังไม่ทันยุคสมัย และไม่ได้ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริงตามวัตถุประสงค์

         หากตัดความกังวลในเรื่องความไม่เรียบร้อย ของการแต่งชุดไปรเวทไปเรียนในสถานศึกษา ซึ่งคงต้องพูดคุยว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน และโฟกัสไปที่ภาระค่าใช้จ่ายเครื่องแบบนักเรียน ที่ผู้ปกครองทุกคนต้องแบกรับนั้น ตามรายงาน “โครงสร้างค่าใช้จ่ายในการศึกษาของครัวเรือนไทย” ของสภาพัฒน์ ระบุว่า ครัวเรือไทย 10% ที่ยากจนที่สุด มีภาระค่าเครื่องแบบนักเรียน คิดเป็น 14.6% ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมด ในขณะที่ครัวเรือนไทยที่รวยที่สุด 10% มีภาระในส่วนนี้เพียง 4.3% นั่นหมายความว่า ยิ่งฐานะยากจนยิ่งมีภาระค่าเครื่องแบบนักเรียนสูง  ชุดลูกเสือ ราคาแรงสุด 840-1,525 บาท/ชุด

         จากการรวบรวมค่าใช้จ่ายเครื่องแบบนักเรียน ระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยเพจ miinara_ พบว่า ชุดนักเรียนหญิง ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ราคาตกอยู่ประมาณ 634-1,405 บาท ชุดนักเรียนชาย ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย 934-1,495 บาท ชุดพละชายและหญิง 600-1,050 บาท ชุดเนตรนารีและเครื่องแบบที่กำหนดตามกฎกระทรวง 625-1,125 บาท ชุดลูกเสือและเครื่องแบบที่กำหนดตามกฎกระทรวง 840-1,525 บาท

         ทั้งนี้ หนึ่งในผู้รวบรวมข้อมูล ย้ำกับทีมข่าว Mono29 ว่า “การออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่ผู้ใหญ่เข้าใจผิด พวกเขาไม่ได้ต้องการให้ยกเลิกการใส่ชุดนักเรียน เพียงแต่ขอให้ยกเลิกข้อบังคับ ที่กำหนดว่าต้องใส่ทุกคน” ‘เศรษฐกิจไม่ดี’ ผู้ปกครองซื้อชุดนักเรียนเท่าที่จำเป็น

         ก่อนหน้านี้เมื่อช่วง เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจค่าใช้จ่ายเปิดเทอมใหญ่ ปีการศึกษา 2563 พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ปรับลดค่าใช้จ่าย กลุ่มสินค้าเพื่อการศึกษา เช่น ชุดนักเรียน รองเท้า อุปกรณ์การเรียน โดยจะลดจำนวนหรือซื้อเท่าที่จำเป็น[ads]

         อย่างไรก็ตาม ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดงบประมาณ ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าเครื่องแบบนักเรียน ระดับอนุบาล คนละ 300 บาท/ปี ระดับประถมศึกษา คนละ 360 บาท/ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น คนละ 450 บาท/ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย คนละ 500 บาท/ปี และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ คนละ 900 บาท/ปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายจริง พบนักเรียนสังกัด สพฐ. 3.4 ล้านคน ขาดแคลนชุดนักเรียน

         ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน เผยว่า ในปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนทั่วประเทศทุกระดับชั้น ที่ขาดแคลนเครื่องแบบนักเรียน รวม 3,481,632 คน แบ่งเป็น ก่อนประถมศึกษา 458,315 คน ประถมศึกษา 1,854,257 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 841,732 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 327,328 คน ซึ่งทั้งหมดนี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดเลยทีเดียว

ขอขอบคุณที่มาจาก: Mono29 News – ข่าวโมโน29