รวม มาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อย แบบขั้นต่ำจากแบงก์ชาติ

       ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ประกาศมาตรการความช่วยเหลือลูกหนี้แบบขั้นต่ำ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ โดยขยายความช่วยเหลือลูกหนี้ประชาชนรายย่อยไปถึง 30 มิ.ย.64 จากเดิมสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.63 

1. ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563) โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์

2. ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีแนวทางต่าง ๆ ดังนี้

2.1 ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น

2.2 ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม

2.3 พิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. soft loan

2.4 ผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสม

        มาตรการความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของแบงก์ชาติมีอะไรบ้าง? โดยเงื่อนไขคือ ลูกหนี้ต้องเป็นปกติ ไม่เป็น NPL ณ วันที่ 1 มี.ค.63 มีดังนี้

1.บัตรเครดิต เปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือ ขยายเวลาชำระหนี้ คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ต่อปี (พิจารณาให้ใช้วงเงินที่เหลือตามความสามารถในการชำระหนี้)

2.สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด ลดอัตราผ่อนขั้นต่ำ ตามความสามารถในการชำระหนี้ หรือ เปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือขยายเวลาชำระหนี้ คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี (พิจารณาให้ใช้วงเงินที่เหลือตามความสามารถในการชำระหนี้)

3.สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ลดค่างวดอย่างน้อย 30% โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% ต่อปี[ads]

4.สินเชื่อเช่าซื้อ ทั้งมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ทุกประเภท เลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) นาน 3 เดือน หรือลดค่างวดโดยขยายเวลาการชำระหนี้

5.สินเชื่อบ้าน เลื่อนชำระค่างวด(เงินต้นและดอกเบี้ย) นาน 3 เดือน หรือเลื่อนชำระเงินต้น 3 เดือนและพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม หรือลดค่างวดโดยขยายเวลาการชำระหนี้

          ทั้งนี้ กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา หรือมาตรการขั้นต่ำ หรือมาตรการอื่น ให้ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือสถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ และผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้มีแผนปรับโครงสร้างหนี้ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL ซึ่งจะเป็นมาตรการเพิ่มเติมตามความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก

ขอขอบคุณที่มาจาก: ธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand