ปรับโฉมกรุงเทพ เตรียมทำฝาท่อระบายน้ำแบบมีลวดลายและสีสัน  

       ทางเพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม ได้ออกมาโพสต์เผยว่า กรุงเทพฯ กำลังจะสร้างฝาท่อแบบมีลวดลายพร้อมกับระบุว่า 'ไทยกำลังจะได้ฝาท่อระบายน้ำมีลาย-สีสันตามฝัน..ยุคปรับโฉมกรุงเทพฯ มาถึงแล้ว?'

      ภาพฝาท่อที่เป็นลวดลายหรือสีสันตามเอกลักษณ์ของท้องถิ่นซึ่งพบได้ในบางประเทศอาจเป็นภาพฝันของหลายคนที่จะได้เห็นแบบนี้ในไทยบ้าง งานศิลป์ลักษณะนี้มีแนวโน้มมาปรากฏในกรุงเทพฯ ในเวลาอันใกล้? กระแสอันเต็มไปด้วยความหวังนี้เริ่มต้นมาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาเรื่องชิ้นงานศิลปะในที่สาธารณะ จึงสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน” แก่รองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

      ทุนนี้มอบให้เพื่อศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา วิถีชีวิต และการค้าของชุมชน รวมถึงลักษณะทางศิลปกรรมของสถานที่สำคัญในอดีตและโบราณสถานที่ยังหลงเหลืออยู่ในย่านชุมชนริมคลองโอ่งอ่างผู้วิจัยเห็นว่า สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการออกแบบงานศิลปะได้ ผลงานอาจช่วยส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชนให้เด่นชัดขึ้นและส่งผลทางอ้อมต่อการค้า ซึ่งการสร้างศิลปะสาธารณะสามารถสื่อให้เห็นถึงความผูกผันกับพื้นที่ของชุมชน พัฒนาการของชุมชนและเมือง อัตลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น และเชื้อชาติให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงย่านการค้าและแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน คุณค่าของโบราณสถาน ศาสนสถาน และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย

      เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมของทางเดินริมคลองและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ผู้วิจัยเห็นว่าในแต่ละช่วงทางเดินริมคลองสามารถติดตั้งงานศิลปะได้หลากหลายลักษณะ จึงเสนอแนวทางการออกแบบงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ทั้งงานประติมากรรมและงานออกแบบศิลปะ 3 มิติ โดยเสนอให้ใช้รูปแบบงานศิลปะหลากหลายร่วมกันให้ทางเดินมีองค์ประกอบทางศิลปะ เกิดทัศนียภาพที่งดงาม และจะส่งผลให้เกิดทางเดินริมน้ำสายวัฒนธรรม รูปแบบการออกแบบงานศิลปะจึงออกมาเป็น 6 รูปแบบ ประกอบด้วย ประติมากรรมลอยตัว ประติมากรรมนูนต่ำ ม้านั่ง ฝาท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภค ศิลปะกราฟฟิตี้ และรั้วกันทางเดินริมน้ำ

      ในที่นี้ งานซึ่งกลายเป็นจุดสนใจคือ ฝาท่อระบายน้ำ ที่ผ่านมา คนกรุงพบเห็นฝาท่อทั่วไป ในขณะที่ฝาท่อบางประเทศถูกออกแบบให้มีลวดลายสีสันบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ทางท้องถิ่น สำหรับงานออกแบบฝาท่อจากโครงการนี้ ปรากฏออกมา 4 ชิ้น และนำมาจัดแสดงในนิทรรศการสาธารณะจนได้รับความสนใจอย่างมาก หลายคนหวังว่าจะได้เห็นฝาท่อเหล่านี้ถูกนำมาใช้จริงในบริเวณคลองโอ่งอ่าง “กองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้นำผลการวิจัยไปใช้และเป็นแนวทางการออกแบบเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โดยส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน ‘โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง’ และโครงการศิลปะชุมชน ‘กิจกรรมแต้มสี กรุงเทพฯ’ ปี 2561 ซึ่งสำนักผังเมืองได้ศึกษาปรับปรุงพื้นที่ริมคลองรอบกรุงตลอดเส้นทางจากแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้จรดทิศเหนือ…

      นอกจากนี้ในโครงการส่วนต่อจากคลองโอ่งอ่างที่กรุงเทพมหานครมีแผนดำเนินการต่อไปนั้น การใช้งานศิลปะโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมก็เป็นแนวทางหนึ่งในการแสวงหาความร่วมมือจากชุมชน” รองศาสตราจารย์จักรพันธ์กล่าว สำหรับความคืบหน้าในการนำไปใช้จริง ทีมงาน “ศิลปวัฒนธรรม” สอบถามสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ว่า ฝาท่อถูกส่งให้สำนักการวางผังเมืองและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เรียบร้อยแล้ว

      คำถามว่า ชิ้นงานจะถูกนำไปใช้จริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร แต่ท่าทีและข้อมูลที่ได้รับเบื้องต้นคือ “จะนำไปใช้จริง” แต่ ณ วันนี้ (17 กันยายน 2562) ผู้วิจัยไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่าจะนำไปใช้จริงเมื่อใด สำหรับมุมมองเรื่องประติมากรรมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะช่วยสร้างความงดงามให้เมือง เป็นแนวคิดเชิงศิลป์และการจัดผังเมืองซึ่งสังคมไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก

       ข้อมูลจากงานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) อธิบายว่า ประติมากรรมบนที่สาธารณะในเมืองช่วงระยะแรกเกิดจากการจัดการของรัฐซึ่งเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งอย่างเหมาะสม และโครงการมักถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการจัดผังเมือง เช่น ตั้งอยู่บนลานพระราชวัง หรือตั้งบนแยกถนนที่ตัดขึ้นใหม่ งานประติมากรรมสาธารณะในช่วงเริ่มต้นของไทยมักเป็นอนุสาวรีย์หรือเป็นส่วนประดับสะพาน น้ำพุ หรืออาจเป็นส่วนประดับอาคารของราชการ การจัดการอย่างชัดเจนโดยรัฐในระยะแรก ๆ ทำให้ประติมากรรมบนที่สาธารณะสื่อความหมายของผลงานถึงสาธารณชนได้ดี ทั้งยังเป็นหมุดหมายที่ส่งเสริมภูมิทัศน์ของเมือง

        อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเขตเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว การจัดการเมืองไม่ทันต่อสถานการณ์ได้ทำลายทัศนียภาพของเมืองที่เคยงดงามในอดีต ปัจจุบันกรุงเทพมหานครก็ค่อนข้างแออัด การจัดสรรพื้นที่ในเมืองให้เป็นที่สาธารณะใหม่ เช่น ลานคนเมือง จัตุรัสเมือง หรือสวนหย่อมทำได้ยาก สภาพเมืองปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยต่อโครงงานประติมากรรมบนที่สาธารณะเช่นในอดีต

      กรุงเทพมหานครมีแนวคิดและความพยายามแทรกงานศิลปะลงบนพื้นที่เมือง โดยริเริ่มโครงการติดตั้งงานประติมากรรมถาวรตามจุดตัดของถนนหลายแห่ง แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถจัดสรรพื้นที่เหมาะสมให้แก่ผลงานประติมากรรม งานบางชิ้นถูกรื้อทิ้งเมื่อมีการปรับปรุงผิวจราจร บางชิ้นถูกปล่อยให้ทรุดโทรมเพราะขาดการดูแล กรุงเทพมหานครจึงมักเลือกสวนสาธารณะเป็นที่ติดตั้งโครงการประติมากรรม แต่ก็ไม่ได้มีส่วนช่วยให้พื้นที่ชุมชนและภูมิทัศน์ของเมืองมีทัศนียภาพโดยรวมที่ดีขึ้นมากนัก

      ปัจจุบันมีภาคธุรกิจ องค์กร และเอกชนหลายรายนำประติมากรรมมาติดตั้งหน้าอาคารสำนักงานของตัวเอง ช่วยสร้างทัศนียภาพของเมืองให้งดงามไปพร้อมกับการส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงธุรกิจขององค์กร เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการเหล่านี้มักเกิดในย่านธุรกิจสำคัญบนพื้นที่ ซึ่งเจ้าของเป็นผู้ดูแลรักษาให้งานประติมากรรมอยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ

       ส่วนในย่านชุมชนที่มีงานประติมากรรมติดตั้ง หากไม่อยู่ในพื้นที่ของหน่วยงานราชการมักขาดผู้ดูแลรับผิดชอบ ทำให้ผลงานเหล่านั้นเสื่อมโทรมในเวลาไม่นานและมักถูกรื้อถอนไป ซึ่งปัญหานี้นำมาสู่การสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน” ดังกล่าวข้างต้น ผลลัพธ์ของการจัดการที่ผ่านมาล้วนชี้ชัดว่า การจัดการทัศนียภาพของเมืองขนาดมหานครโดยรัฐฝ่ายเดียวไม่เพียงพอ การปรับปรุงภูมิทัศน์ในเมืองให้งดงามต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย โครงการประติมากรรมบนพื้นที่สาธารณะจะประสบผลสำเร็จหากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ศิลปิน และชุมชน มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

      ข้อมูลทั้งเชิงประจักษ์และจากหน่วยงานของรัฐย่อมทำให้เห็นว่า การขับเคลื่อนโครงการทางสาธารณะต้องการส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ไม่แน่ว่าหากมีกระแสเรียกร้องและผลักดันอย่างจริงจัง เราอาจได้เห็นฝาท่อระบายน้ำที่มีสีสันไม่ใช่แค่ในจุดเดียว แต่อาจขยายตัวไปทั่วเมือง (เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า มีอีกกองทุนที่อาจารย์กลุ่มหนึ่งได้ทำ และ “การประปานครหลวง” มีท่าทีสนใจฝาขนาดเล็ก 16 อัน สำหรับนำมาใช้ในแถบเยาวราช) 

ขอขอบคุณที่มาจาก : Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม