ประกันสังคมทั้ง 3แบบ ที่ต้องรู้ ได้รับสิทธิ์อะไรบ้าง

         สิ่งที่ควรรู้สำหรับประกันสังคมทั้งสามแบบ บางคนรู้แค่ว่าต้องจ่ายประกันสังคมทุกเดือน แต่ไม่รู้ว่าทำไมต้องจ่าย จ่ายไปแล้วได้อะไรคืนมามั้ย บางคนไม่เห็นประโยชน์ของมันเลยด้วยซ้ำ เพราะไม่เคยได้ใช้ วันนี้เรามาทบทวนสิทธิประกันทั้ง 3 แบบกัน เพื่อที่ทุกคนจะได้รู้ และเพื่อไม่ให้เสียสิทธิประโยชน์ของเราเอง

1.พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการ

1. กรณีเจ็บป่วย เงื่อนไข: ต้องจ่ายสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน

-ในกรณีเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

-ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่นโดยที่ได้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน สามารถเบิกคืนได้

-สถานพยาบาลของรัฐ สามารถเข้ารับการรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และในกรณีเป็นผู้ป่วยใน เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ยกเว้น ค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท

-สถานพยาบาลเอกชน กรณีผู้ป่วยนอกเบิกค่ารักษาได้ไม่เกิน 1,000 บาท กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลกรณีไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท ค่าห้องกรณีรักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท กรณีต้องผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 – 16,000 บาท

-กรณีทันตกรรม ไม่เกิน 900 บาทต่อปี

2. กรณีคลอดบุตร เงื่อนไข: ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร

-เบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาท (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)

-ผู้ประกันตนหญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอดเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น)
กรณีสามีและภรรยาสามารถเลือกใช้สิทธิได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

3. กรณีทุพพลภาพ เงื่อนไข: ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน

– รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิตในกรณีทุพพลภาพร้ายแรง

-ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเมื่อมีมติให้เป็นผู้ทุพพลภาพ

-ได้รับเงินสงเคราะห์เสียชีวิต

-หากผู้ทุพพลภาพจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน แต่หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน

4. กรณีเสียชีวิต เงื่อนไข: สาเหตุการเสียชีวิตต้องไม่เกิดจากการทำงาน และจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือนขึ้นไป

– ค่าทำศพ 40,000 บาท

– สามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี

5. กรณีสงเคราะห์บุตร เงื่อนไข: จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน

 -ได้รับเงินเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาท จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ (ไม่เกิน 3 คน)

6. กรณีชราภาพ  กรณีบำนาญชราภาพ เงื่อนไข: ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่จำเป็นต้องจ่าย 180 เดือนติดต่อกัน)

– มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

 สิทธิประโยชน์

– ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

– ถ้าจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนทุกๆ 12 เดือนที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนนั้น

 กรณีบำเหน็จชราภาพ เงื่อนไข: จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน

 -มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย

– ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

สิทธิประโยชน์

-ถ้าจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ

-ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด

-กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

7. กรณีว่างงานเงื่อนไข: จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือนขึ้นไป

-ว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป

-ในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

2.ประกันสังคมมาตรา 39 สำหรับผู้ที่เคยเป็นพนักงานเอกชนแล้วลาออก

         โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน จากที่สมทบเดือนละ 750 บาทจะเหลือเดือนละ 432 บาท โดยนายจ้างไม่ได้ช่วยเราสมทบแล้ว แต่รัฐบาลยังสมทบให้เราเดือนละ 120 บาท สวัสดิการจะยังได้เหมือนมาตรา 33 ยกเว้น การว่างงาน ที่จะไม่ได้รับ และกรณีชราภาพ บำเหน็จ/บำนาญ ที่เราอาจจะได้น้อยลง

        กรณีชราภาพ ที่เปลี่ยนไป – หากจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนได้จ่ายไป – หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตน + นายจ้างจ่ายสมทบ – หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย – แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นทุก 12 เดือน

 ตัวอย่าง : คุณ A เคยทำงานเป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือน 20,000 บาท โดยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 180 เดือน ต่อมาลาออกจากงาน และสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 60 เดือน เนื่องจากคุณ A จ่ายเงินสมทบรวม 240 เดือน คุณ A จะได้รับเงินบำนาญรายเดือน ดังนี้ 

 ส่วนที่ 1 : 180 เดือนแรก เท่ากับ 4,800 บาท x 20% = 960 บาท ส่วนที่ 2 : 60 เดือนหลัง เท่ากับ 4,800 บาท x 1.5% x 5 ปี = 360 บาท รวมได้รับเงินบำนาญตลอดชีพ 960 + 360 = 1,320 บาทต่อเดือน หมายเหตุ : คิดจากฐาน 4,800 บาทต่อเดือน เนื่องจากจ่ายเงินประกันสังคมมาตรา 39 ครบ 60 เดือน 

ตัวอย่างที่ 2 : คุณ B ทำงานประจำ ส่งประกันสังคมมาตรา 33 มาตลอดแล้วลาออก จากนั้นสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และส่งประกันสังคมตามมาตรา 39 ไป 30 เดือน จะได้เงินบำนาญ ดังนี้ ฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่จะคิดเงินบำนาญก็จะคิดจาก 4,800 บาท 30 เดือน มาเฉลี่ยกับ 15,000 บาทตอนทำงานประจำตามจำนวนเดือนที่เหลือ คือ 60 – 30 = 30 เดือน 

ส่วนที่ 1 : 30 เดือนแรก เท่ากับ (4,800 บาท x 30 เดือน) / 60 เดือน = 2,400 บาท 

ส่วนที่ 2 : 30 เดือนหลัง เท่ากับ (15,000 บาท x 30 เดือน) / 60 เดือน = 7,500 บาท รวมได้รับเงินบำนาญตลอดชีพ 2,400 + 7,500 = 9,900 x 20% = 1,980 บาทต่อเดือน จะเห็นได้ว่า หากเราจ่ายเงินประกันสังคมมาตรา 39 ครบ 60 เดือน จะได้รับเงินบำนาญน้อยกว่าการจ่ายไม่ครบ 60 เดือน[ads]

3.ประกันสังคมมาตรา 40 สำหรับฟรีแลนซ์ งานอิสระ ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และ 39  มี 3 แพ็กเกจเลือก

1.จ่าย 70 บาทต่อเดือน

1.1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับค่าทดแทนขาดรายได้ รับสิทธิ ผู้ป่วยในและนอกรวมกันไม่เกิน 30 วัน/ปี

– ผู้ป่วยใน วันละ 300 บาท  ผู้ป่วยนอก หยุดเกิน 3 วัน ชดเชยวันละ 200 บาท / หยุดไม่เกิน 3 วัน ชดเชยวันละ 50 บาท

1.2. กรณีทุพพลภาพ รับค่าทดแทนขาดรายได้ เป็นระยะเวลา 15 ปี

– ได้รับค่าทดแทนรายเดือน 500-1,000 บาท (ขึ้นกับระยะเวลาส่งเงินสมทบ)

– เสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท

1.3 กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท ถ้าจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิตได้รับเงินเพิ่ม 3,000 บาท

2. จ่าย 100 บาทต่อเดือน

-เหมือนแพ็กเกจ 1 แต่เพิ่มกรณีกรณีชราภาพเข้ามา

-เงินบำเหน็จชราภาพ ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ซึ่งเงินบำเหน็จจะคำนวณจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุนเดือนละ 50 บาท x ระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ + เงินผลกำไรที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน

3. จ่าย 300 บาทต่อเดือน

3.1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย กรณีหากเจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาลให้อยู่ที่ 300 บาท/วัน ส่วนกรณีถ้าไม่นอนโรงพยาบาลแต่แพทย์สั่งให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท (กรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกรวมกัน ไม่เกิน 90 วันต่อปี)

3.2. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทน 500-1,000 บาท/เดือน ตลอดชีวิต

3.3. กรณีเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 40,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายใน 12 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต ยกเว้นกรณีเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต)

3.4. ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน และได้รับเงินบำเหน็จที่สะสมไว้เดือนละ 150 บาท พร้อมดอกผล โดยสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน อีกทั้งเมื่อจ่ายครบ 180 เดือน รับเงินก้อนอีก 10,000 บาท

3.5. ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 200 บาท/เดือน ต่อบุตร 1 คน ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุไม่กิน 6 ปีบริบูรณ์ โดยต้องจ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนไข 24 เดือน ภายใน 36 เดือน

– สามารถใช้สิทธิ์ได้คราวละไม่เกิน 2 คน เช่น หากบุตรคนแรกอายุครบ 6 ปีแล้ว สามารถนำบุตรคนที่ 3 รับเงินสงเคราะห์บุตรแทนได้จนครบอายุ 6 ปี

        หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ปชผู้ที่มีประกันสังคมนะคะ สิทธิ์ของท่านได้รับอะไรบ้างซึ่งเป็นสิ่งที่ควรรู้ เพราะบางคนละเลย จนเสียสิทธิ์นั้นไป ทั้งพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการ พนักงานเอกชน ฟรีแลนซ์ อิจสระหวังว่าจะได้ประโยชน์ จากความารู้ข้างต้นนี้นะคะ

ขอขอบคุณที่มาจาก: SALE HERE