อัจฉริยะ เผย บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ ยืนยันไม่ได้มอบอำนาจให้ใคร

          จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่เด็กอายุ 15 ปี ที่โดนล่อซื้อกระทงรูปการ์ตูน ซึ่งนัดรับแถวห้างดัง จ.นครราชสีมา จากนั้นก็มีชุดจับกุมซึ่งอ้างตัวว่าเป็นสิขสิทธิ์มาจับกุม พร้อมเรียกเงิน 50,000 บาทแลกกับการถอนแจ้งความ ไม่ถูกดำเนินคดีนั้น

          กระทั่งเด็กสาววัย 15 คนดังกล่าวได้เปิดใจว่า ตนเองอยากทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อกับแม่ จึงผุดไอเดียทำกระทงขาย และปกติก็ไม่ได้ทำลายการ์ตูนชื่อดังจำหน่ายอยู่แล้ว แต่ว่าลูกค้ารายนี้เจาะจงที่จะเอากระทงลายการ์ตูน ตนจึงทำให้ ซึ่งเรื่องนี้ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมได้เข้าช่วยเหลือ

          ล่าสุด เพจ ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้นำคำแถลงของบริษัทต้นสังกัดที่อออมาชี้แจงมาโพสต์ ซึ่งบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาขอชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกันว่า ไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายแต่อย่างใดตามข่าวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทฯ ได้ทำการปรึกษาฝ่ายกฎหมายและมอบหมายให้ทนายความดำเนินการสืบหาความจริงในกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

               ส่วนด้าน นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น ว่า “กระบวนการล่อซื้อเด็กที่มีความสามารถและต้องการช่วยเหลือตนเองและครอบครัว บริษัทใหญ่โตเริ่มต้นใช้วิธีการอย่างอื่นที่เหมาะสมกับเด็กก่อนได้หรือไม่….!!? เด็กบางคนมีทักษะพิเศษในการทำหัตถกรรม และต้องการช่วยเหลือตนเองด้วยการทำเป็นรายได้พิเศษเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่หรือผู้ปกครอง

              เด็กบางคนก็มีตัวการ์ตูนเป็นขวัญใจ การทำหัตถกรรมของเด็กจึงเอาสิ่งที่รักมาผนวกกับความสามารถพิเศษดังกล่าว ไปทำหัตถกรรมเล็กๆน้อยๆ พอมีรายได้ช่วยเหลือตนเองตามช่วงเทศกาลงานบุญ กรณีที่เด็กมีพัฒนาการเพียงแค่รายได้พิเศษ เป็นครั้งคราวตามห่วงประเพณี ไม่ได้ทำอุตสาหกรรม บริษัทใหญ่โตมีชื่อเสียงขนาดนั้น หากเริ่มต้นด้วยการแนะนำตักเตือนก่อน หรืออาจจะอนุญาตลิขสิทธิ์เป็นการชั่วคราว เพื่อให้เด็กทำได้อย่างถูกกฎหมาย และถือว่าเป็นงานให้บริการเพื่อสังคมหรือ CSR ของบริษัท ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการที่มีค่าต่อไปในอนาคตจะดีกว่าหรือไม่

              การเริ่มต้นด้วยกระบวนการล่อซื้อ พร้อมเรียกเงินค่าปรับจำนวน 50,000 บาท เพื่อเป็นการไกล่เกลี่ยกับเด็กที่อายุขนาดนั้น ผมว่านอกจากทำให้เด็กขวัญกระเจิงแล้ว ยังเป็นฝังภาพแผลเป็นทางจิตใจที่ไม่มีวันลืม และยังถือเป็นการขัดขวางความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และพัฒนาการตามวัยของเด็กอีกด้วย

              กล่าวเช่นนี้ มิได้ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนกระทำความผิด และคนกระทำความผิดไม่ควรลอยนวล แต่ควรเริ่มต้นด้วยกระบวนการอย่างอื่นก่อนวิธีการล่อซื้อและจับเพื่อไกล่เกลี่ยก่อนจะได้หรือไม่ ฝากให้ช่วยกันคิดต่อ ถือเป็นมุมมองจากข้าราชการเกษียณก็แล้วกัน

ขอขอบคุณที่มาจาก: ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม