ทำไม W ถึงเรียกว่าดับเบิลยู ทั้งๆที่เขียนเป็น V 2ตัวติดกัน

        เชื่อว่าหลายๆท่านก็คงจะเคยเกิดความสงสัยกันว่า ตัวอักษร W ในภาษาอังกฤษนั้นทำไมถึงออกเสียงว่า ดับเบิลยู (Double U) ทั้งๆที่เวลาเขียนนั้นเราเขียนเหมือนตัว V ทับกันอยู่ โดยทางเพจ ว่าด้วยเรื่องของภาษา ได้ออกมาไขข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า 

      เคยสงสัยมั้ยว่า ทำไมในภาษาอังกฤษ ตัว W ถึงเรียกว่า “ดับเบิลยู” (Double U) ทั้งที่ตัวอักษรเอง เหมือนตัว V 2 ตัวเขียนติดกันมากกว่า เพื่อจะตอบข้อสงสัยนี้ได้ ต้องย้อนกลับไปยังประวัติของอักษรละตินกันเลยทีเดียว เดิมที ในภาษาละตินดั้งเดิม (Classical Latin) ที่ใช้ในยุคโรมันยังไม่มีอักษรตัวนี้ แต่ใช้ตัว V แทนทั้งเสียง /w/ ในตำแหน่งพยัญชนะ หรือ /u/ ในตำแหน่งสระ เช่น MVNDVS อ่านว่า /ˈmun.dus/ ขณะที่ VITA อ่านว่า /ˈwiː.ta/ เวลาผ่านไปเข้าสู่ยุคกลาง ภาษาละตินแยกตัว U ออกจากตัว V เพื่อทำหน้าที่เป็นเสียงสระโดยเฉพาะ จาก MVNDVS เป็น Mundus (ยุคนี้คนเริ่มเขียนหวัดขึ้น จนเกิดอักษรตัวเล็กขึ้นมาด้วย) และตัว V ก็เปลี่ยนเสียงพยัญชนะจาก /w/ กลายเป็น /v/ ในที่สุด 

       แล้วตัว W มีต้นกำเนิดจากไหน คำตอบคือ ทางเหนือของยุโรป ที่ใช้ภาษาเยอร์มานิก นำโดยภาษาอังกฤษที่เราคุ้นเคยกันนี่แหละครับ ชนชาติดั้งเดิมบนหมู่เกาะอังกฤษคือ Anglo-Saxon เดิมทีใช้อักษรรูน (Rune) ในการบันทึกในภาษาอังกฤษเก่า (Old English) โดยเสียง /w/ ถูกเขียนด้วยตัว Ƿ (อ่านว่า Wynn) เวลาต่อมา อังกฤษถูกชาวนอร์แมน นำโดยพระเจ้า William I เข้ายึดครอง ทำให้อักษรละตินแพร่หลายในเกาะอังกฤษแทนอักษรรูน และเสียง /w/ ก็ถูกเขียนเป็น UU ในที่สุด (ส่วนตัว Ƿ ก็หายสาบสูญไปเลย) ตัว UU เวลาเขียนเร็วๆ มันก็กลายเป็น W ในภายหลัง และสุดท้ายก็กลายเป็นตัวอักษรใหม่ในภาษาอังกฤษ และมีชื่อว่า Double U ในที่สุด

      ขณะที่ภาษาอื่นๆ ในยุโรป ไม่ค่อยจะมีตัวอักษร W แพร่หลายนัก (โดยเฉพาะกลุ่มโรมานซ์ที่จะใช้ W ในคำยืมเท่านั้น) แต่เมื่ออังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจของโลกในช่วงศตวรรษที่ 19-ต้น 20 ต่อด้วยสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น ทำให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาสากลของโลก และตัว W ก็ถูกใช้แพร่หลายในการทับศัพท์ของภาษาที่ไม่ได้เขียนด้วยอักษรละตินเป็นหลักเช่นกัน

สำหรับหน่วยเสียงของตัว W ในภาษาต่างๆ นั้น ได้แก่

     /w/ Voiced labio-velar approximant ในภาษาอังกฤษ ตรงกับเสียง /ว/ ในภาษาไทย

     /v/ Voiced labiodental fricative ในภาษาเยอรมัน, โปแลนด์, สวีเดน ตรงกับตัว V ภาษาอังกฤษ

     /ʋ/ Labiodental approximant ในภาษาดัตช์, นอร์เวย์, เดนมาร์ก เสียงนี้คือออกเสียง /v/ แต่ทำปากกว้างกว่าเสียง /v/

แม้ว่าภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Double U แต่ในภาษาอื่นๆ จะใช้คำที่แปลว่า Double V โดยเฉพาะภาษากลุ่มโรมานซ์ หรือตั้งชื่อตัวอักษรขึ้นมาใหม่เลยเช่นภาษาเยอรมัน, ดัตช์, โปแลนด์

ชื่อเรียกตัว W ในภาษาต่างๆ โดยขอเขียนเป็นตัว IPA เพื่อระบุเสียงให้ชัดเจน

     กลุ่มเยอร์มานิก อังกฤษ double U – /ˈdʌbəl.juː/ เยอรมัน we – /veː/ ดัตช์ we – /ʋeː/ นอร์เวย์ dåbbelt ve – /ˈdɔbəlt.ˌʋeː/ เดนมาร์ก dåbelve – /dʌb̥əlʋeːˀ/ กลุ่มโรมานซ์ (พบในคำยืมเท่านั้น) ฝรั่งเศส double vé – /du.blə.ve/ สเปน uve doble – /ˈuβe ˈdoβle/ อิตาลี vu doppia – /vudˈdoppjo/

    กลุ่มสลาวิก โปแลนด์ wu – /vu/ (มีตัว W แต่ไม่มีตัว V) เนื่องจากชื่อตัวอักษรที่มีมากถึง 3 พยางค์ คนไทยชอบย่อมันว่า “ดับบลิว” ต้องบอกก่อนเลยว่าฝรั่งมันก็ย่อ แต่ย่อไม่เหมือนคนไทย โดยฝรั่งจะเรียกตัว W แบบเร็วๆ ว่า Dub-U /ˈdʌb.juː/ แทนครับ 

     สำหรับเรื่องนี้ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งความรู้ใหม่ที่เคยสงสัยกันตั้งแต่เด็กแต่ยังหาคำตอบไม่ได้ วันนี้ก็ได้ทราบกันแล้วนะคะว่าจริงๆแล้วตัว W  นั้นมีที่มาและที่ไปในการออกเสียงนั้นเอง

ขอขอบคุณที่มาจาก : ว่าด้วยเรื่องของภาษา