จีนปล่อยน้ำเพิ่ม ตอนนี้ปริมาณแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น แต่กระทบระบบนิเวศ 

      หลังจากที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง และระดับแม่น้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุดเมื่อนนี้ (24 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณหน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเช้านี้มีความลึกประมาณ 2.86 เมตร หลังจากเมื่อ 1-2 สัปดาห์ก่อน สาธารณรัฐประชาชนจีน (สป.จีน) ลดการระบายน้ำจากเขื่อนทำให้ระดับน้ำลึกไม่ถึง 2 เมตรเท่านั้น 

     นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง เขื่อนจี่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สป.จีน ได้ระบายน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขง เพิ่มเป็น 1,620 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิมไม่กี่วันก่อนได้ระบายน้ำในปริมาณ 1,587 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

     ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ปีนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนมาก เพราะทางการจีนกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนเอาไว้ถึงร้อยละ 70 และเพิ่มปริมาณการปล่อยน้ำในฤดูแล้งร้อยละ 30 ทำให้ระดับน้ำผิดธรรมชาติ โดยในฤดูน้ำหลาก น้ำโขงกลับแห้งลง ทำให้ปลาไม่สามารถทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ได้ พืชน้ำไม่เจริญเติบโต หรือบางชนิดถึงขั้นแห้งตาย ส่วนในฤดูแล้งน้ำกลับมากจนไม่เห็นโขดหินที่มีตะไคร่น้ำซึ่งเป็นแหล่งอาหารและการแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ และนกบางชนิด 

     ทั้งนี้ กรณีที่นักวิเคราะห์บางคนระบุว่าปัญหาน้ำโขงแห้งเกิดจากภาวะโลกร้อนนั้น ตนเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงแค่บางส่วนเท่านั้นและไม่ได้เป็นปัจจัยหลักด้วย เพราะเมื่อสังเกตจากแม่น้ำสายอื่นๆ เช่น แม่น้ำสาละวิน ก็ไม่ได้แห้ง ดังนั้นสาเหตุส่วนใหญ่จึงเกิดจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ที่ปัจจุบันมีมากถึง 11 เขื่อน มีขีดความสามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้มากถึง 47 ล้านล้านลูกบาศก์เมตรมากกว่า

       “ปริมาณน้ำมากมายมหาศาลนี้ จีนได้ประโยชน์เต็มๆ แต่ประเทศท้ายน้ำได้รับผลกระทบ ด้วยเหตุนี้กลุ่มรักษ์เชียงของ จึงรวบรวมข้อมูลและผลกระทบเพื่อจะนำเสนอต่อสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และจะขอหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางการจีน หรือทางบริษัทที่สร้างเขื่อนในจีน เพื่อหาวิธีบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงร่วมกันต่อไป เพราะเราเชื่อว่าหากเปลี่ยนวิธีการกักเก็บน้ำจะทำให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติได้” 

      สำหรับแม่น้ำโขงตลอดแนวพรมแดนภาคอีสานนั้นก็คล้ายกับชายแดนเชียงราย เพราะได้รับผลกระทบจากเขื่อนไชยะบุรีในแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ที่คาดว่าขณะนี้เขื่อนดังกล่าวมีการทดลองระบบ ทำให้น้ำเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนมีความสูงห่างกันกว่า 32 เมตร หรือราวๆ ตึก 11 ชั้น ดังนั้น ต่อไปนี้คาดว่าภาคอีสานก็จะประสบปัญหาเหมือนกับเชียงรายทุกปี 

ขอขอบคุณที่มาจาก : m.mgronline.com