คืบหน้าแล้ว กรณีปรับลดค่าบริการรถไฟฟ้าอาจเหลือคนละ 29 บาท/เที่ยว

       รถไฟฟ้า หรือ BTS เป็นอีกหนึ่งการขนส่งที่เป็นตัวเลือกสำหรับคนเมืองมากที่สุด เพราะใช้เป็นทางเลือกหลีกเลี่ยงรถติด แต่ก็มีกระแสเรื่องค่าบริการรถไฟฟ้า ที่ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ส่งผลกระทบหลายๆอย่าง โดยล่าสุด นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับลดค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าตามมติคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า

     ขณะนี้อยู่ในกระบวนการที่หน่วยงานเจ้าของโครงการและควบคุมระบบการเดินรถของภาครัฐหน่วยงานต่างๆ กำลังปรับคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามากำกับนโยบาย หลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา

     ได้มีมติตั้งคณะกรรมการชุดใหม่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชุดใหม่ขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่าบอร์ด รฟม.ชุดใหม่จะเร่งรัดการอนุมัติปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงโดยเร็ว

     เพราะนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เป็นประธานบอร์ด รฟม. คนใหม่ได้มีการ ศึกษาเรื่องการปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าไว้ก่อนแล้ว

     สำหรับแนวทางการปรับลดค่าโดยสารที่คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สรุปไว้ก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย

     – รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ปกติค่าโดยสารคนละ 15-45 บาท/เที่ยว เฉลี่ยต่อคนละ 31 บาท/เที่ยว เปลี่ยนเป็นตั๋วรายเดือนจะมีค่าโดยสารคนละ 25-30 บาท/เที่ยว และช่วง Off Peak จะอยู่ที่คนละ 15-25 บาท/เที่ยว

     – รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ปกติค่าโดยสารคนละ 14-42 บาท/เที่ยว เฉลี่ยต่อคนละ 21 บาท/เที่ยว เปลี่ยนเป็นตั๋วรายเดือนจะมีค่าโดยสารคนละ 15-20 บาท/เที่ยว และช่วง Off Peak จะอยู่ที่คนละ 14-25 บาท/เที่ยว

     – รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ปกติค่าโดยสารคนละ 16-42 บาท/เที่ยว เฉลี่ยต่อคนละ 25 บาท/เที่ยว เปลี่ยนเป็นตั๋วรายเดือนจะมีค่าโดยสารคนละ 20-25 บาท/เที่ยว และช่วง Off Peak จะอยู่ที่คนละ 16-30 บาท/เที่ยว

     – รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ปกติค่าโดยสารคนละ 16-44 บาท/เที่ยว เฉลี่ยต่อคนละ 29 บาท/เที่ยว เปลี่ยนเป็นตั๋วรายเดือนจะมีค่าโดยสารคนละ 26 บาท/เที่ยว ไม่มีช่วง Off Peak

       ทั้งนี้มาตรการนี้ออกมาก็มีการคาดว่าจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารมาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 10% ส่วนผลกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการ ทาง กทม.จะนำภาษีจากป้ายวงกลมที่จัดเก็บกว่าปีละ 14,000 ล้านบาท นำมาชดเชยเฉลี่ยปีละ 500-1,000 ล้านบาท/ปี

ขอขอบคุณที่มาจาก : thebangkokinsight.com