น่าห่วง คนไทยกินเค็มติดอันดับต้นของโลก ทั้งยังเกินกว่าปกติถึง 2 เท่า

       เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงจริงๆ เมื่อได้ทราบว่าคนไทยกินเค็มเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะอาหารในบ้านเราแต่ละอย่างนั้นมีน้ำจิ้มเยอะ โดยคิดเป็น 2 เท่าจากที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ พบมีของกินปรับสูตรน้อยแค่ 100 รายการ ทำเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั่วโลกเดินหน้าปรับสูตรลดโซเดียมในอาหาร

       ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ (Dr.Daniel Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวในการประชุมพิจารณามาตรการควบคุมโซเดียมในอาหารว่า จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าการบริโภคเค็มมากเกินไปเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรคเอ็นซีดีเพิ่มขึ้น อาทิ โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไต เป็นต้น ดังนั้น การลดเค็มคือมาตรการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำการบริโภคเกลือ โซเดียมไม่เกิน 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชาต่อวัน อย่างไรก็ตาม คนไทยมักกินเค็มเกินปริมาณที่กำหนด ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศทั่วโลกหันมาใช้มาตรการปรับสูตรอาหารปรุงสำเร็จ โดยลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมถือว่าได้ผลดี ดังนั้นเรื่องนี้จะสำเร็จได้ต้องร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม การประชุมวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

          นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นประเทศที่กินเค็มเป็นอันดับต้นๆ เทียบกับเกาหลีกับญี่ปุ่น มีการบริโภคเค็มสูงเป็น 2 เท่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ โดยคิดเป็นโซเดียมสูงประมาณ 4,000 มิลลิกรัม/วัน เพราะมีการกินอาหารที่ต้องจิ้มน้ำจิ้มเยอะ ปัจจุบันทาง อย.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีมาตรการแบบสมัครใจให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรอาหารลดหวาน มัน เค็ม ลง ถ้าผลิตภัณฑ์อาหารใดทำได้ก็จะได้สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสัญลักษณ์ดังกล่าวประมาณกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ แต่ก็ถือว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด อย่างไรก็ตาม เรื่องลดการกินเค็ม ลดการกินโซเดียมนั้น ต้องใช้การรณรงค์ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนน่าจะดีกว่า การออกกฎหมายให้มาเป็นลำดับสุดท้าย

          ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การที่ร่างกายได้รับโซเดียมสูงจะเกิดผลกระทบหลายระบบ โดยเฉพาะไตที่ทำหน้าที่ขับโซเดียมต้องทำงานหนัก เกิดไตเสื่อม เมื่อเป็นมากต้องรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ย 240,000 บาทต่อคนต่อปี ไม่รวมค่ายาและค่าใช้จ่ายทางอ้อม ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพบว่า ปี 2558 ใช้งบประมาณในการล้างไต 5,247 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 6,318 ล้านบาทในปี 2559 ส่วนสิทธิประกันสังคมรวมกับข้าราชการต้องใช้ปีละ 10,000 ล้านบาท รวมเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 15,000 ล้านบาท โรคหัวใจและหลอดเลือดปีละ 78,976 ล้านบาท โรคเบาหวาน 24,489 ล้านบาท.  

      ได้รู้แบบนี้แล้วก็อยากจะให้คนไทยตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา หากกินเค็มมาเกินไป ซึ่งทางที่ดีควรลดการปรุงรสอาหารเพิ่ม และรับประทานอาหารรสชาติกลางๆไม่หนักเกินไป จะทำให้สุขภาพดีขึ้นนะคะ 

ขอขอบคุณที่มาจาก : thaihealth.or.th