กองทัพเรือส่งเรือผลักดันน้ำลงพื้นที่อุบล เร่งระบายน้ำสู่โขง

       วิกฤติน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านมาจะเข้า 1 เดือนแล้ว ล่าสุดทางกองทัพเรือได้จัดส่งเรือผลักดันน้ำลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว โดยทางกองประชาสัมพันธ์ สํานักงานเลขานุการกองทัพเรือ  ได้ออกมาโพสต์รายละเอียดระบุว่า

        วันนี้ (27 กันยายน 2562) เวลา 16.50 น. พลเรือตรี กวี องคะศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายแผน อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ เป็นประธานในพิธีลำเลียงเรือผลักดันน้ำ เพิ่มเติมจำนวน ชุดที่ 1 จำนวน 14 ลำ จาก 28 ลำ พร้อมกำลังพลจำนวน 14 นาย จากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อปฏิบัติภารกิจในการ ผลักดันน้ำร่วมกับเรือผลักดันน้ำที่กองทัพเรือส่งไปก่อนหน้านี้จำนวน 25 ลำ โดยคาดว่าจะเดินทางถึงจังหวัดอุบลราชธานีในช่วงเช้าของวันพรุ่งนี้ โดยจะไปยังจุดติดตั้งเรือผลักดันน้ำบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูลถนนเลี่ยงเมือง ตำบลกุดลาด อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

        ตามที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี ได้ขอรับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือจำนวน 25 ลำ เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยติดตั้งบริเวณแก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2562 เป็นต้นมานั้น พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ประกาศยกระดับความรุนแรงของอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ และให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้กำกับควบคุมพื้นที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดที่ประสบอุทกภัย 4 จังหวัดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 โดยมี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานซึ่งที่ประชุมมีมติให้ขอรับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือเพิ่มเติมในการเร่งระบายน้ำโดยจะติดตั้ง สะพานข้ามแม่น้ำมูลฝั่งตำบลกุดลาด อำเภอเมือง หรือฝั่งตำบลท่าช้างอำเภอสว่างวีระวงศ์ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย ในการนี้ พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ/ ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย จึงได้สั่งการอย่างเร่งด่วนให้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ จัดเรือผลักดันน้ำให้การสนับสนุนจังหวัดอุบลราชธานีตามที่ได้รับการร้องขอ พร้อมทั้ง เตรียมเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือทุกลำให้มีความพร้อมในการสนับสนุนการปฏิบัติในการผลักดันน้ำ ตามที่ได้รับการร้องขอจากจังหวัดที่ประสบอุทกภัย โดยปัจจุบัน แม้ว่า เรือผลักดันน้ำจำนวน 25 ลำ จะได้ทำการผลักดันน้ำในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากปริมาณฝนที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในหลายพื้นที่ยังคงท่วมสูง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ประสานขอรับการสนับสนุน เรือผลักดันน้ำเพิ่มเติม ในการนี้กองทัพเรือได้สั่งการให้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ โดย หน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำ กองทัพเรือ ได้จัดเรือผลักดันน้ำ จำนวน 28 ลำ สนับสนุนแก่ทางจังหวัดอุบลราชธานี 

     ซึ่งคาดว่าจะทำให้มวลน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้ อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

       สำหรับ เรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ และจากองค์ความรู้ ในการสร้างเรือผลักดันน้ำ ที่คงมีอยู่ทำให้ กองทัพเรือสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ในปี 2554 ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์ เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด คือขนาด 320 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 150,000 ลูกบาศก์เมตร/วันขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน

        เรือผลักดันน้ำนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว

ขอขอบคุณที่มาจาก : กองประชาสัมพันธ์ สํานักงานเลขานุการกองทัพเรือ