กยศ ลดเบี้ยปรับช่วยคนเบี้ยวหนี้พร้อมขยายเวลาผ่อนเป็น 15ปี

        สำหรับบุคคลที่กู้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. หลังจากเรียนจบแล้ว จะต้องถึงเวลาใช้หนี้ที่กู้ยืมมา แต่ก็มีผู้กู้หลายรายเบี้ยวชำระหนี้ จนทำให้ทาง กยศ.ได้ออกกฏออกมา ทั้งหักเงินเดิน และตามยึดทรัพย์นั้น ล่าสุด นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยว่า กองทุนได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้จนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญาและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีในปี 2562 สามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาล เพื่อได้รับลดเบี้ยปรับ 75% ของเบี้ยปรับที่มีอยู่ ณ วันทำสัญญาประนีประนอม แต่มีเงื่อนไขว่าผู้กู้ยืมที่ตกลงทำสัญญาแล้วต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไป หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งจะนำส่วนลดเบี้ยปรับกลับเข้ามาเป็นหนี้ตามคำพิพากษาทันที

        นอกจากนี้ ยังได้ขยายเวลาผ่อนชำระสูงสุดจาก 9 ปี เป็น 15 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามจำนวน ทุนทรัพย์ เงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ คงเหลือ ณ วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยหากมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 250,000 บาท ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 9 ปี ทุนทรัพย์ตั้งแต่ 250,000-400,000 บาท ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 12 ปี และทุนทรัพย์มากกว่า 400,000 บาทขึ้นไป ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 15 ปี

         “การปรับเงื่อนไขครั้งนี้ เพื่อต้องการช่วยผู้กู้ยืมที่มีหนี้ค้างชำระจำนวนมากให้ผ่อนชำระได้ต่อเนื่องโดยไม่ผิดนัดชำระอีก โดยหลังจากที่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ผู้กู้ยืมต้องชำระเงินทุกเดือนตามกำหนด หากผู้กู้ยืมยังผิดนัดชำระหนี้หรือค้างชำระหนี้อีก นอกจากจะไม่ได้รับส่วนลดเบี้ยปรับแล้ว กองทุนจะทำการบังคับคดีต่อไปในอนาคต”

         นายชัยณรงค์กล่าวว่า ในแต่ละปีมีผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเฉลี่ยปีละ 1 แสนราย ในจำนวนนี้ได้เข้ามาประนีประนอมยอมความ 80% แต่หลังจากเข้ามาประนีประนอมแล้วก็ยังพบว่ามีการผิดนัดชำระหนี้ซ้ำอยู่อีก 70% ดังนั้น เพื่อโอกาสให้ลูกหนี้กลับมาผ่อนได้ปกติ กยศ. จึงปรับเงื่อนไขช่วยเหลือให้โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งน่าจะช่วยให้อัตราการประนอมหนี้และผิดนัดชำระซ้ำลดลงจาก 70% เหลือ 30% ส่วนลูกหนี้ที่มีการประนอมหนี้กับ กยศ. ก่อนปี 2562 กองทุนฯ กำลังพิจารณาให้ความช่วยเหลือเช่นกัน

        ขณะเดียวกัน กยศ. กำลังศึกษาออกมาตรการช่วยเหลือผู้กู้เรียน นักเรียน นักศึกษา ที่อยู่ในครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ได้สิทธิพิเศษในการกู้ยืมเพิ่มขึ้นแต่ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นอะไร ส่วนมาตรการการหักบัญชีเงินเดือนลูกหนี้ ขณะนี้มีลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนเข้าร่วมแล้ว 7.6 แสนราย ส่งผลให้กองทุนมีการชำระหนี้กลับเข้ามาเพิ่มขึ้น ตกเดือนละ 420 ล้าน ต่อเดือน และคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี กองทุนจะมีเงินชำระหนี้ได้ถึง 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถช่วย นักเรียนมีทุนในการเรียนหนังสือได้ 600,000 รายในแต่ละปี

         นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จัดทำแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยสามารถดาวน์โหลดเพื่อทำการชำระหนี้ ตรวจเช็กยอดเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับได้ ซึ่งมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 1 หมื่น พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดไลน์ Lineกยศ. ให้ทำการสอบถามปัญหาการกู้ยืม โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตอบคำถามภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการโทรเข้ามาถามจนโทรศัพท์ล่ม

        สำหรับจำนวนนักเรียนที่กู้ยืม กยศ. ในปัจจุบัน มี 5.6 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ 6.03 ล้านบาท แบ่งเป็นอยู่ระหว่างการศึกษา 5.98 แสนคน อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 3.78 แสนคน ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1.02 ล้านคน อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.54 ล้านคน และอื่นๆ กรณีเสียชีวิตและทุพลภาพ 5.6 หมื่นคน ทั้งนี้ ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.54 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ 4.11 แสน ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 2 ล้านราย คิดเป็นเงินค้างชำระ 7.3 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้ผิดนัดชำระหนี้แต่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 1.05 ล้านคน และถูกดำเนินคดีเเล้ว 1.03 ล้านคน

       สำหรับลูกหนี้ที่ได้กู้ยืมเงินมาเรียน หากเรียนจบและได้งานทำแล้ว ก็อย่าลืมไปชำระหนี้ กยศ. กันด้วยนะคะ เพราะหากไม่ชำระหนี้ตามกฎหมายอาจจะถูกดำเนินคดีอาจจะโดนหนักถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ได้